MAJOR ปรับตัว ซื้อ ‘TKN-WORK’ เพื่ออยู่รอด
การที่ MAJOR เข้าไปลงทุนถือหุ้น TKN และ WORK ในครั้งนี้ จึงสะท้อนว่า MAJOR ได้เริ่มปรับตัวและเริ่มมองเห็นวิธีสร้างรายได้ที่หลากหลาย
เส้นทางนักลงทุน
การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ในระบบมัลติเพล็กซ์รายใหญ่ของไทย และนอกจากธุรกิจโรงภาพยนตร์แล้ว MAJOR ยังให้บริการในธุรกิจโบว์ลิ่ง, คาราโอเกะ, ลานสเก็ตน้ำแข็ง, ธุรกิจพื้นที่เช่าและศูนย์การค้า, ธุรกิจการสร้างและการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมทั้งธุรกิจบริการสื่อโฆษณาและศูนย์สุขภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน กดดันให้ MAJOR ต้องเร่งปรับตัวเองอย่างรวดเร็ว
โควิดกระทบ MAJOR หนัก ในปี 2563 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่โควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยในปีนี้ MAJOR ประสบภาวะขาดทุน 527.40 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่รายได้รวมลดลง 65% จากปีก่อน มาที่ 3,936.43 ล้านบาท อันมีสาเหตุหลักมาจากโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในกลุ่มกิจการต้องปิดลงชั่วคราว รวมถึงสถานโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ และไอซ์สเก็ต ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาด มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.-31 พ.ค. 2563 ทำให้รายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
และถึงแม้ว่าโรงภาพยนตร์และสถานที่ให้บริการอื่น ๆ ทั้งหมด ได้รับอนุมัติให้เปิดอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 แต่กลุ่มกิจการของ MAJOR ก็ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดการเลื่อนฉายภาพยนตร์ต่างประเทศออกไป และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เข้าฉายเป็นภาพยนตร์ขนาดเล็ก และจำนวนเรื่องที่ฉายลดจำนวนลงอย่างมาก
ต่อมาในปี 2564 โควิดยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รายได้รวมของ MAJOR ยังคงได้รับผลกระทบจนลดลง 20% จากปี 2563 มาที่ 3,010 ล้านบาท ผลกระทบรอบนี้ทำให้ MAJOR ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,758 ล้านบาท ลดลง 36% แต่สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ 1,581.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 400% จากการรับรู้รายการพิเศษ
โดย MAJOR รับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ออกไปเมื่อช่วงกลางปี 2563 จำนวน 647.16 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 30.36 % ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ SF ให้แก่บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ในราคาหุ้นละ 12 บาท รวมเป็นเงินกว่า 7.76 พันล้านบาท ทำให้ MAJOR มีกระแสเงินสดกลับเข้ามาจำนวนมาก แต่หากไม่นับรวมรายการนี้ MAJOR จะขาดทุนทันทีราว 710 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร MAJOR เคยให้สัมภาษณ์สื่อ ยกให้ปี 2563 เป็น “The Dark Year” ของ MAJOR เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์จอมืด และวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยังทำให้เมเจอร์ต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะไม่ใช่เฉพาะผลกระทบจากโควิด แต่ MAJOR ยังได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว และการปรับลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดด้วย
ดังนั้นภายใต้สถานการณ์นี้ MAJOR จึงจำเป็นต้องหาช่องทางเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้ และเลือกที่จะลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถต่อยอดกับธุรกิจหลักได้นั่นเอง
MAJOR ได้ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้น 2 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN จำนวน 69 ล้านหุ้น มีช่วงราคาระหว่าง 7.06 ถึง 8.26 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 7.82 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าการลงทุนราว 540 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน MAJOR ถือหุ้นใน TKN แล้วเท่ากับ 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ TKN ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ในบริษัทนี้ทันที
และหลังจากนั้นไม่นาน MAJOR ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK จำนวน 22.1 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.0049% ของหุ้นทั้งหมด ในช่วงราคาระหว่าง 22.41 ถึง 25.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 23.66 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 523 ล้านบาท ทำให้ MAJOR ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ของ WORK ด้วย
MAJOR มีเป้าหมายจะซื้อสะสมทั้ง TKN และ WORK เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัทให้มากขึ้น แต่จะไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมทั้งจะไม่เข้าไปบริหารจัดการต่อโครงสร้างบริษัทของทั้ง 2 บริษัท หรือกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด
MAJOR ระบุว่าการเข้าถือหุ้นใน TKN ก็เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจ และขยายความสามารถทางการแข่งขันของบริษัท โดยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายป๊อปคอร์นสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มช่องทางรายได้สื่อในการประชาสัมพันธ์ทางด้านการตลาดให้กับ TKN ในอนาคต
ส่วนการถือหุ้นใน WORK ก็เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงด้านการผลิตคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการลงทุนและการพัฒนากระบวนการดำเนินงาน
ทั้งนี้ MAJOR มีเป้าหมายในการพัฒนา และเตรียมความพร้อมในการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้าน ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท
ในช่วงที่ผ่านมา MAJOR ได้พยายามปรับตัวด้วยการสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอาหาร เช่น ป๊อปคอร์นแบบเดลิเวอรี่ และการจำหน่ายป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จรูปในค้าปลีกต่าง ๆ แล้ว จนกระทั่งในปี 2564 MAJOR มีรายได้จากส่วนอาหารเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 786 ล้านบาท แต่นั่นอาจจะไม่เพียงพอต่อการประคองบริษัท เพราะหากธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังประสบปัญหาจากการระบาดของโควิดต่อไป ก็ยังเป็นตัวฉุดทั้งกำไรและรายได้รวมให้ลดลงอยู่ดี
เพราะเมื่อพิจารณาแยกรายธุรกิจ จะเห็นว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์รายได้ปีก่อนลดลง 16% คิดเป็นมูลค่า 1,470 ล้านบาท และธุรกิจโฆษณารายได้ลดลง 49% คิดเป็นมูลค่า 294 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ MAJOR จะต้องมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ และเข้าไปลงทุนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต
สำหรับทิศทางของ MAJOR ในปี 2565 นี้ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ของ MAJOR เคยให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ ระบุว่า บริษัทคาดผลประกอบการปีนี้ จะฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งในด้านการเข้าชมภาพยนตร์ และอัตราการใช้บริการโรงหนังที่จะเปิดเพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้รุนแรง โดยปัจจุบันที่มีการเปิดให้บริการราว 75% คาดว่าจะทยอยดีขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในปีนี้ก็จะมีหนังทำเงินหลายเรื่องทยอยเข้าฉาย เช่น The Batman, FANTASTIC BEASTS, DOCTOR STRANGE เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหนังไทยที่จะเข้าฉายอีกจำนวนมาก และมองว่าจะเป็นหนังที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีพันธมิตรเข้ามาร่วมดำเนินการ ทำให้หนังไทยเป็นหนังที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมไปถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Disney+ ก็เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร มีการเข้ามาซื้อโฆษณาจากทางบริษัทด้วย จึงมั่นใจว่าปีนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ MAJOR ระบุว่าในปีนี้ MAJOR ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรในการทำหนังที่จะฉายในประเทศจีน คาดว่าจะสามารถฉายได้ในปีนี้ โดยในประเทศจีนนั้นมีจอโรงภาพยนตร์กว่า 8 หมื่นจอ หากเข้าฉายได้ราว 5 พันจอ ก็มองว่าจะสามารถทำรายได้ในระดับที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายสินค้าผ่าน Delivery รวมไปถึงในไตรมาส 1 นี้ บริษัทจะมีการนำป๊อปคอร์น เข้าไปจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่จะทำให้รายได้เพิ่มจากธุรกิจจำหน่ายป๊อปคอร์นในปีนี้ และจะมีการขยายจอภาพยนตร์เพิ่มอีกราว 20-30 จอในหัวเมืองต่างจังหวัด จากปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 833 โรง ใน 177 สาขารวมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ในมุมมองของโบรกเกอร์ ได้ประเมินการเข้าซื้อหุ้น TKN และ WORK ของ MAJOR ว่าน่าจะเป็นการปรับตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงจากเดิมที่พึ่งพารายได้จากภาพยนตร์เป็นหลัก โดยเมื่อพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 ของ MAJOR ให้ฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่รอคิวเข้าฉายในปีนี้อีกมากด้วย
ส่วนธุรกิจขายป๊อปคอร์นที่กลับมาขายหน้าโรงภาพยนตร์ได้แล้ว และแผนในการขยายธุรกิจเพิ่มเติมโดยจะวางจำหน่ายป๊อปคอร์นในการขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นต้น จะเป็นอีกแรงหนุนช่วยให้รายได้ธุรกิจป๊อปคอร์นเติบโตต่อเนื่องมากขึ้น ดังนั้นในปีนี้ MAJOR น่าจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้
สำหรับกรณีที่ MAJOR ยังมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับสูง ภายหลังจากขาย SF ออกไป ซึ่งคาดว่าเมื่อหักเงินลงทุนใน TKN และ WORK แล้ว ยังเหลือกระแสเงินสดสุทธิมากกว่า 500 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องสูงขึ้นมากและมีความพร้อมในการนำเงินไปลงทุนต่อยอดเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพิ่มเติม ขณะที่มีภาระหนี้ลดลง เพราะมีการนำเงินบางส่วนไปใช้คืนหนี้ ส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามประเมินว่า กว่าผลประกอบการของ MAJOR จะฟื้นตัวกลับมาเต็มที่อาจจะต้องใช้เวลา 1-1.5 ปี เป็นอย่างน้อย
การที่ MAJOR เข้าไปลงทุนถือหุ้น TKN และ WORK ในครั้งนี้ จึงสะท้อนว่า MAJOR ได้เริ่มปรับตัวและเริ่มมองเห็นวิธีสร้างรายได้ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจอื่น ๆ ให้มากขึ้นเพื่อให้ MAJOR อยู่รอดได้ นั่นเอง