หนี้ครัวเรือนพุ่ง-เศรษฐกิจไทยโตชะลอลง
ไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น แต่คนสูงวัยของไทยจนกว่าคนสูงวัยของญี่ปุ่น
เส้นทางนักลงทุน
เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง) ของธนาคาร 4 แห่งของไทย ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทีเอ็มบีธนชาต เนื่องจากคาดว่าความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทย
S&P ระบุว่า แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาด้านการปล่อยกู้ในภาคธนาคารยืดเยื้อออกไปอีก
นอกจากนี้ S&P ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง และไม่เสมอภาคกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากการเดินทางระหว่างประเทศที่ต้องถูกเลื่อนออกไป อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน
การนำร่องปรับลดเรตติ้ง ธนาคาร 4 แห่งของไทยของ S&P ในครั้งนี้ทำให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ในอนาคต S&P อาจจะปรับลดเรตติ้งประเทศ รวมทั้งปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลงก็เป็นได้!!!!
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “กอบสิทธิ์ ศิลปะชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้สะท้อนมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คนตกงาน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างรุนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภายหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จนกระทั่งเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งนำพามาสู่ปัญหาราคาพลังงานและวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก กดดันให้ปัญหาเงินเฟ้อมีความน่าเป็นห่วง
แต่สำหรับประเทศไทยนอกจากจะมีปัจจัยรุมเร้าเฉกเช่นทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ไทยยังมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 80% และเป็นปัจจัยให้ S&P “จับตามอง”
และแม้ประเทศไทยจะไม่มีความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ตรงเวลา เนื่องจากไทยมีเงินทุนสำรองสูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สะท้อนว่าไทยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดจากการลงทุนสะสมอยู่มาก และไทยยังอยู่ในฐานะของการเป็นเจ้าหนี้ด้วยซ้ำ และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เกิดการชะลอตัวทั่วโลก แต่ไทยกลับมีการเติบโตที่ช้ากว่า
โดยไทยนับเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้แต่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียด้วยกันเอง เห็นได้จากตัวเลข GDP ในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด แต่ GDP ของประเทศในภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น เติบโตเฉลี่ยได้ราว 1.3% แต่ GDP ไทยติดลบ 6.2%
สะท้อนว่าไทยมีปัญหา อันมีสาเหตุมาจากด้าน “โครงสร้าง” เป็นหลัก เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง ดังนั้นเมื่อการส่งออกสะดุด และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด ไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก
นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะในมิติด้านแรงงาน ยังพบว่าไทยมีประชากรในวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพลดลงจากการลดการจ้างงาน ขณะที่จำนวนชั่วโมงในการทำงานของประชากรในวัยทำงานกลับเพิ่มขึ้น กดดันให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง โดยโครงสร้างของกำลังแรงงานของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และจำนวนประชากรไทยก็ลดลงด้วย
การที่ไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัย” แต่ความยากจนของประชากรไทยเพิ่มสูงขึ้นจากภาระที่ต้องแบกรับมากขึ้นทั้งค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ “ไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น แต่คนสูงวัยของไทยจนกว่าคนสูงวัยของญี่ปุ่น”
“กอบสิทธิ์” ระบุว่าไทยมีแนวโน้มจะถูกปรับลด GDP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในส่วนของทีมงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กำลังพิจารณาจะปรับลด GDP ไทยลง จากเดิมที่ 2.8-3.7% โดยจะมีการประกาศในวันศุกร์ (25 มี.ค.)ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝ่ายวิจัยกรุงศรี ได้มีการประกาศปรับลด GDP ของไทยปีนี้ลงแล้ว เหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% โดยปรับลดมูลค่าการส่งออก (รูปดอลลาร์) ขยายตัวอยู่ที่ 2.6% จากเดิมคาด 5% นอกจากนี้ ภาพการส่งออกที่อ่อนแอลง ขณะที่ราคานำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาพลังงาน ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง จึงอาจนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเร่งขึ้น โดยทั้งปีคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% อาจบั่นทอนกำลังซื้อ และทำให้การบริโภคของผู้มีรายได้ในแต่ละกลุ่มฟื้นตัวได้แตกต่างกัน การคาดการณ์อัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จึงปรับลดลงเหลือ 3.0% จากเดิมคาด 3.8% แม้การใช้จ่ายอาจได้รับแรงหนุนจากการปรับดีขึ้นของรายได้เกษตรกรที่ได้อานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่บ้างก็ตาม
ทั้งนี้คาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนมีการสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น โดยมีการห้ามนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานจากรัสเซียไปจนถึงกลางปีหน้า จะกระทบการผลิตและการค้าของโลกให้ลดลง ซึ่งจะเชื่อมโยงมาสู่การส่งออก การผลิต และภาคท่องเที่ยวของไทย
ซึ่งแม้ทางการไทยจะมีการปรับปรุงมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอาจยังเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัยลบ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการยกระดับไทยเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง (ระดับ 4) จากสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมถึงการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อถึงไตรมาส 2 ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะส่งผลทางตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยในช่วงที่เหลือของปีแล้ว ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ ขณะที่วิกฤตราคาพลังงานส่งผลต่อต้นทุนการเดินทางขยับขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวอาจชะลอการเดินทางออกไป ล่าสุดวิจัยกรุงศรีได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มาอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ 7.5 ล้านคน
ดังนั้นการปรับลดเรตติ้ง 4 ธนาคารไทยของ S&P ครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับลด GDP ประเทศตามมาอีกหรือไม่ ต้องติดตาม