อีก 1 เดือนจากนี้ไป

วันที่ 28 เมษายน หรือ 1 เดือนนับจากนี้ไป หุ้นใหม่ SCBX เข้าเทรด แทนหุ้นของ SCB ที่จะถอนจากตลาดหุ้นไทยไปอย่างเป็นทางการ


วันที่ 28 เมษายน หรือ 1 เดือนนับจากนี้ไป หุ้นใหม่ SCBX เข้าเทรด แทนหุ้นของ SCB ที่จะถอนจากตลาดหุ้นไทยไปอย่างเป็นทางการ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ในมุมของประวัติศาสตร์ของทุนนิยมแล้วถือว่า คือการปฏิวัติที่เรียกว่าการตีโต้กลับของทุนอนุรักษนิยมทางการเงินอีกครั้งหนึ่ง ถัดจากที่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนกลุ่มผู้บริหารนำโดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นำการเปลี่ยนแปลงจากธนาคารที่อยู่บน “หอคอยงาช้าง” มาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ร้อนแรงสุด ด้วยเทคโนโลยีเช่นเครื่องถอนเงินหรือเอทีเอ็ม และกิจกรรมอื่น ๆ

วันนี้ภายใต้การนำของดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร และนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กำลังจะทำให้ธุรกิจการเงินที่เกินกว่าธนาคารพาณิชย์แบบจารีต ก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่มาจากแหล่งรายได้หลากหลายช่องทาง

การปรับตัวครั้งใหญ่นี้ ที่ผู้บริหารของ SCB แถลงข่าวใหญ่ไปแล้วในไตรมาสสามปีก่อน (แม้ว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการในอีก 1 ปีข้างหน้า) ถือเป็นภาพสะท้อนแนวโน้มระบบทุนนิยมโลกดังที่นักเขียนฝรั่งเศสเจ้าของงานเขียนระดับโลกเรื่องทุนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่าง นายพิเกตตี ได้กล่าวเอาไว้ นั้นคือธุรกิจการเงิน มีเส้นทางที่เปิดกว้างให้ทำกำไรมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพียงแต่เส้นทางที่จะเดินต่อไปนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก

การจัดตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมา แล้วเอาเข้าตลาดแทนธนาคารพาณิชย์ตามระบบเดิม โดยมีเหตุผลคือ เคลื่อนย้ายไปหาแหล่งรายได้ใหม่ที่กว้างกว่าเดิม และแน่นอน…มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม

เหตุผลคือหลังจากโครงสร้างใหม่แล้วมีการระบุว่า การจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดยกำหนด SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่” ทำนองเดียวกันกับ INTUCH หรือ PTT ที่เป็นโฮลดิ้ง มีรายได้ลดลงแต่มีอัตรากำไรสุทธิมากขึ้น และบริษัทใต้ร่มธงจะมีความคล่องตัวในการบริหารงานดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ทั้ง VC และ FIN-TECH

การเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่) เท่ากับเปิดช่องในการหารายได้จากแหล่งใหม่ ๆ ได้

โครงสร้างของโฮลดิ้งใหม่ ที่ชื่อ SCBX จะทำให้บริษัทในอนาคต สามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ

-ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน อันเป็นธุรกิจสร้างรายได้ตามจารีต แต่ไม่มีความคืบหน้ากับยุคสมัยเพราะขีดจำกัดในการควบคุมความเสี่ยงของหน่วยงานกำกับดูแลเช่น แบงก์ชาติ หรือ คปภ.

-ธุรกิจ New Growth ที่อาจจะมีความเสี่ยงขาดทุนในระยะแรก แต่มีอนาคตในฐานะดาวรุ่ง หรือ star (ตามหลักการบริหารแบบ BCG)

จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะเห็นได้ว่า SCBX จะแยกธุรกิจแบงก์กับธุรกิจอื่นออกจากกัน

ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจใหม่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคารเดิม

ระบบจัดการคือ  SCBX จะปรับเปลี่ยน เป็นการแยกย่อยแต่ละธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย

ซึ่งแต่ละบริษัท ก็จะมีทีมและมีผู้บริหาร ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ แตกต่างจากระบบรวมศูนย์เหมือนเดิม

การเติบโตเหล่านี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันในธุรกิจที่การเติบโตด้วยการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย

เป้าหมายสำคัญคือสร้างมูลค่าให้บริษัททั้งหมดในเครือ ของ SCBX มีมูลค่ารวมกันราว 1 ล้านล้านบาท ในอนาคตซึ่งจะทำให้เติบโตกลายเป็นหัวขบวนของยักษ์ใหญ่ทางการเงินในอาเซียนโดยปริยาย

การประกาศจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,100-26,800 ล้านบาท) ร่วมกับเครือซีพีโดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, Decentralized Finance, FinTech และเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็ถือเป็นมาตรการเชิงรุกทางด้านการลงทุนที่ลึกกว่าการเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในความหมายเก่าแก่

ตามแผนงานดังกล่าว ทำให้อนาคตของ SCBX ที่เป็นยานแม่ที่ทำตัวเป็นบริษัทโฮลดิ้งก็ยังถือหุ้นในอีกหลายธุรกิจ ที่แปลกแหวกแนวออกไป สามารถจะเป็นธุรกิจ “เสี่ยงสูง กำไรสูง” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการปลดปล่อยให้บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCB Securities ทำธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งจะรุกเข้ามีบทบาทในบริษัททำ ICO ใน Token X ที่ดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างคล่องตัวมากกว่าเดิม

บนเส้นทางของ SCBX เช่นนี้ จะเท่ากับมีเส้นทางของตลาดบริการทางการเงินแบบจารีตที่มีพื้นฐานเหนียวแน่นของ SCB และอีกทางหนึ่งคือในตลาดใหม่ที่เสี่ยงสูงกำไรสูงเป็นหัวหอกหรือกองหน้าที่มีลักษณะ “ดิบเถื่อน” แบบเดียวกันปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทุนนิยมป่าเถื่อน” ดังที่เคยเป็นตำนานที่เป็นมายาคติหรือ myth ที่เกี่ยวเนื่องกับการ “มุ่งตะวันตก” ซึ่งมีฮีโร่ส่วนใหญ่เป็นคนนอกกฎหมายหรือ “คนชายขอบเทา” พร้อมกับแนวทางที่เรียกกันว่า “ความฝันแบบอเมริกัน” หรือ American Dream อันลือลั่นมาแล้ว

โดยเฉพาะธรรมชาติของธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นพรมแดนใหม่ที่มีโครงสร้างและพฤติกรรมเสมือนอยู่ในเขต No man’s land นั่นเอง

ราคาของ SCBX ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเท่าใดเพราะยังไม่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าบุ๊ก บิวดิ้งหรือ การทำคำเสนอซื้อ เพื่อกำหนดราคาก่อนซื้อขายจริงในตลาดเอสซีบี เอกซ์ ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าไม่น่าจะต่ำกว่าราคาบนกระดานของ SCB ในปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าบุ๊ก แวลู

งานนี้ แม้ไม่ใส่ใจกับบทวิเคราะห์ที่พยายามอ้างอิงถึงราคานอนแบงก์ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ให้ว่าสหรัฐฯ เช่น Morgan Stanley P/BV 1.44 เท่า Goldman Sachs P/BV 1.01 เท่า ส่วน SCB ล่าสุด อยู่ที่เพียง 0.89 เท่า ………ใครจะพลาดโอกาสนี้ด้วยการไม่ถือ SCB เพื่อเอาไปแลกกับหุ้น SCBX ก็จะโวยทีหลังไม่ได้เลย

นี้คือคำเตือนก่อนถึงวันเทรดจริงของ SCBX ที่จะไม่มีรายชื่อหุ้น SCB บนกระดานซื้อขายอีกต่อไป

Back to top button