บททดสอบความอึดพลวัต2015
สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาทดสอบความอึดทางจิตวิทยาของนักลงทุนทั่วโลก ในยามที่สัญญาณตลาดหุ้นมีลักษณะไซด์เวย์อัพ เพราะแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะผ่านการทดสอบว่าพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วแต่แรงกดดัน ไม่ให้ขาขึ้นเป็นภาวะกระทิงยังมีต่อไป
สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาทดสอบความอึดทางจิตวิทยาของนักลงทุนทั่วโลก ในยามที่สัญญาณตลาดหุ้นมีลักษณะไซด์เวย์อัพ เพราะแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะผ่านการทดสอบว่าพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วแต่แรงกดดัน ไม่ให้ขาขึ้นเป็นภาวะกระทิงยังมีต่อไป
ดัชนีผู้ผลิตหรือ PMI ของจีนที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ ยังคงตอกย้ำว่า จีนยังมีกำลังการผลิตถดถอยลงต่ำกว่ากำลังการผลิตเต็มที่เพียงแค่ 49.8% เท่านั้นในเดือนตุลาคม เป็นเดือนที่สามติดต่อกันถือเป็นข่าวร้ายของสินค้าโภคภัณฑ์และเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ทั่วโลก
สมาคมผู้ผลิตเหล็กของจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตมากถึงครึ่งหนึ่งของโลกออกมายอมรับว่า ภาวะผลผลิตล้นเกินในทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ. จนนำมาซึ่งการทุ่มตลาดไปยังต่างประเทศจะต้องเกิดขึ้นต่อไปอาจจะถึงปลายปีหน้าด้วยซ้ำ แม้ว่าปีนี้จะลดกำลังการผลิตมากถึง 20% ไปแล้วก็ยังไม่อาจแก้ไขได้
ข่าวร้ายจากจีน ทำให้ความหวังว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารทั่วโลก ที่พุ่งแรงเมื่อต้นเดือนตุลาคมจากแรงการเก็งกำไรที่ว่า breaking out (ผ่าทางตันกลับขั้ว) กลายเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เป็นมายาภาพ เสมือนหนึ่งการถอนหายใจชั่วคราวของตลาดขาลงตามปกติของตลาดที่ เผชิญกับภาวะที่ดัชนีหรือราคา รับข่าวร้ายมากจนเข้าเขตขายมากเกิน แรงซื้อย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานปัจจัยของตลาดหรือคุณภาพของสินค้าหรือหลักทรัพย์
ภาวะ breaking out เกิดขึ้นและจบลงสอดรับกับนักกลยุทธ์ของสำนักโกลด์แมน แซคส์เคยบอกว่า ภาวะดังกล่าวจะมีอายุแสนสั้น เพราะจะเข้าสู่เขตซื้อมากเกินเร็วกว่าปกติเสมอ
บทเรียนที่นักลงทุนไม่เคยจดจำได้แม่นยำจึงวนเวียนกลับมาซ้ำเติมอีก เป็นเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve) ภาคปฏิบัติต้องทบทวนกันไม่ให้ขาด
เช่นเดียวกันกรณีของเฟดของสหรัฐ เป็นต้นแบบที่ดี หลังจากรีรอกับการตัดสินใจในเดือนกันยายนที่ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนตกเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักลงทุนข้อหาส่งสัญญาณผิดเพราะเส้นโค้งของฟิลลิป (Phillip’s Curve) ที่เคยยึดถือมา ไม่ทำงานตามปกติ พวกเขากลับมาส่งสัญญาณใหม่อีกครั้งว่าเดือนธันวาคมอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ย
ท่าทีชัดเจนดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเปลี่ยนทิศครั้งใหม่ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข่าวดียาวนานเช่นกันเพราะถูกข่าวร้ายจากจีนเข้ามากลบจนมิด
ข่าวร้ายจากจีนทำให้ผลผลิตน้ำมันที่ลดลงของสหรัฐ จากธุรกิจน้ำมัน หมดความหมายเมื่อการตัดราคาของชาติโอเปกใต้โต๊ะตอกย้ำผลผลิตล้นตลาดยังดำเนินไป
ข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์ยืนยันว่าตราบใดที่ผลผลิตล้นเกินความต้องการหากไม่มีการจ่ายเงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือยากที่ราคาหุ้นจะประคองตัว ในแดนบวกไปเรื่อยๆ ยากจะเห็นดัชนีและราคาหุ้นมีปรากฏการณ์วิ่งแรงแซงหน้าเศรษฐกิจไปได้ไกลเกิน
ดอกบัวในโคลนตมนั้น ไม่สามารถใช้ได้กับตลาดหุ้นแน่นอน
ด้วยเหตุนี้คนจำนวนไม่น้อยยังคงเชื่อมั่นว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเฟดรู้ดีว่าการขึ้นดอกเบี้ยในยามที่เงินเฟ้อต่ำมากและยังมีกำลังการผลิตต่ำเกินผลลัพธ์อาจจะหมายถึงหายนะจากความไร้เดียงสาเพราะทันทีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยค่าดอลลาร์ขยับตัวแข็งขึ้น ทำให้บริษัทข้ามชาติอเมริกันลดลงกระแทกพื้นได้ง่าย
วันนี้เศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นมาแข่งกับอิทธิพลเก่าแก่ของเฟด ทำให้บทบาทของเฟดที่เคยเล่นบทบาทเชิงรุก (ไม่ว่าจะเป็นสายเหยี่ยวหรือพิราบ) มายาวนานหลายทศวรรษโดยเฉพาะยุคหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและระเบียบ โลกใหม่ที่สหรัฐเป็นแกนกลางของโลก ลดประสิทธิผลลง
เช่นเดียวกันราคาน้ำมันที่ดิ่งไว ทำให้ทฤษฎี Phillip’s Curve ที่เคยระบุว่า เมื่อการว่างงานลดลง เงินเฟ้อต้องสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยสกัดขาขึ้นเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งพึงกระทำ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางนโยบายที่ยากจะไปต่อได้
เหลือให้นักลงทุนเผชิญกับบททดสอบความอึดอัดยาวนานกว่าปกติ