เวลามีมูลค่า
ดร.ชัชชาติ ตั้งคำถามให้สังคมคิดว่า “การที่เราไม่ทำมา 20 ปี และมาทำตอนนี้ อันนี้คือการที่คนในอดีตสร้างหนี้มาให้เราหรือเปล่า”
ผมรู้สึก “จี๊ด…” ขึ้นมาอย่างไรไม่รู้ เมื่อเห็นข่าวประเทศไทยต้องพึ่งพารางรถไฟในลาว เพื่อส่งออกทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 40 ตัน และมะพร้าว 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 20 ตันไปยังประเทศจีน
โดยใช้เวลาแค่ 5 วันเท่านั้น
ถ้าขนส่งสินค้าทางเรือไปเมืองจีน ก็คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน กว่าจะกระจายสินค้าจากท่าเรือเข้าไปยังจุดหมายปลายทางลึกเข้าไปในดินแดน ก็อาจใช้เวลาอีกเป็น 10-15 วัน
การขนส่งทางรางเร็วกว่ามาก ผักผลไม้ไม่ทันเน่าเสีย และมีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่ามาก
ระบบรางของไทยเรา ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า เดินตามหลังสปป.ลาวไปแล้ว ทุเรียนและมะพร้าว ต้องขนออกไปจากสถานีรถไฟมาบตาพุดโดยรางระบบ “มิเตอร์ เกจ” กว้าง 1 เมตรไปจนถึงสถานีหนองคาย
จากนั้นเปลี่ยนขบวนรถเข้าลาวไปที่สถานีท่านาแล้ง แล้วต้องถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ลงมาเปลี่ยนแคร่บรรทุกเป็นราง “สแตนดาร์ด เกจ” ขนาด 1.435 เมตร วิ่งสู่ชายแดนบ่อเต็น เข้าไปยังดินแดนภายในจีน
สิ่งที่ผมรู้สึก “จี๊ด” ขึ้นมาก็เพราะ ประเทศไทย ควรจะมีระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วทุกภาค รวมทั้งสายอีสานเชื่อมรางสายล้านช้างไปจีนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ที่ล่วงเลยมาแล้ว
แต่เหตุการณ์วันที่ 12 มี.ค. 2557 กลับเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ทั้งปวง
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ตราร่างกฎหมายขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง ขัดวินัยการเงินการคลัง และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้
ผมยังจำภาพได้ดีถึงวันที่มีการถ่ายทอดสดการไต่สวน ตุลาการท่านหนึ่ง ตั้งคำถามใส่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ที่ยืนอยู่หน้าบัลลังก์ว่า “ถนนลูกรัง หมดไปจากประเทศหรือยังล่ะ ถึงจะเอางบค่าใช้จ่ายมหาศาลไปทำรถไฟความเร็วสูงขนผักผลไม้”
ครับ ตอนนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงอันดับ 1 ของโลก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ลาว “ถนนลูกรัง” ก็ยังไม่หมดไป แต่โชคร้าย! ดันเป็นสาระสำคัญที่จะดับอนาคตโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศนี้
ประเทศไทยเรา ที่ลงมือสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ได้ระยะทางแค่ 3.5 กม.ณ สถานีรถกลางดง “ถนนลูกรัง” ก็ยังไม่หมดไปเหมือนกันครับ
ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันกับชัชชาติ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็ไม่ควรจะสร้างได้ในสมัยรมว.ฯ ศักดิ์สยาม ชิดชอบในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาใช่ไหมครับ
ข้อมูลมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นนี้ เป็นเท่าไหร่ ยังไม่มีใครให้คำตอบแน่ชัดได้นะครับ เช่นเดียวกับระยะเวลาแล้วเสร็จ ก็ไม่มีใครรู้เช่นกัน
แต่ในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีความชัดเจนทั้งวงเงินลงทุนและระยะเวลาแน่นอน และไม่ได้มีแค่รถไฟความเร็วสูงเท่านั้นนะครับ มีการแจกแจงรายละเอียดไว้โดยแน่ชัดว่า รถไฟความเร็วสูง 3 สาย ภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออก มีมูลค่าลงทุนรวม 783,553 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2
รถไฟฟ้า 10 สาย 456,662 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.8, ถนนมอเตอร์เวย์ 241,080 ล้านบาท, ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท,
รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ 383,891 ล้านบาท, ปรับปรุงระบบรถไฟ 23,236 ล้านบาท, สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท, ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท, ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท และค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน 21,050 ล้านบาท
แผนกู้เงิน 2 ล้านล้านมาสร้างอนาคตประเทศ มีความชัดเจนมาก ที่จะได้เห็นการเดินทางโดยระบบรางในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
เราคงได้เห็นการนั่งรถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่ในเวลา 4+5 ชั่วโมง หรือกทม.-หาดใหญ่ในเวลา 6-7 ชั่วโมง รวดเร็วน้อยกว่าเครื่องบิน แต่ก็ปลอดภัยและประหยัดมากกว่า
ส่วนรถรฟท.หวานเย็น ก็จะมีความเร็วรถสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 39 กม./ชม.เป็น 60 กม./ชม. และความเร็วเฉลี่ยขบวนรถโดยสาร ก็จะเพิ่มขึ้นจาก 60 กม./ชม.เป็น 100 กม./ชม.
ร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ไม่ใช่กู้ทีเดียวทั้งหมด แต่ใช้เวลาทยอยกู้ทั้งสิ้น 7 ปี เฉลี่ยแล้ว ก็ตกปีละ 2.85 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ก็ถูกตีโต้กลับว่า ใช้เงินจำนวนมากเกินความจำเป็น และขัดวินัยทางการเงินการคลัง
ดร.ชัชชาติ ตั้งคำถามให้สังคมคิดว่า “การที่เราไม่ทำมา 20 ปี และมาทำตอนนี้ อันนี้คือการที่คนในอดีตสร้างหนี้มาให้เราหรือเปล่า” ยกตัวอย่างรถไฟรางคู่ที่รัฐบาลอนุมติงบประมาณในปี 2536 ที่ 80,000 ล้านบาท แต่มาสร้างกันในวันนี้ อาจต้องใช้เงินสูงถึง 400,000 ล้านบาท
“เวลามีมูลค่า” ดร.ชัชชาติสรุปไว้เช่นนั้น