เลื่อน แต่ยังไม่เลิก

ข่าวดีดันราคาหุ้นหลังจากดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยดันทะลุมาเหนือแนวต้านจิตวิทยาที่สำคัญ 1,700 จุด ทำให้ตลาดเดินหน้าไปต่ออีกระยะหนึ่ง


ข่าวดีดันราคาหุ้นหลังจากดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยดันทะลุมาเหนือแนวต้านจิตวิทยาที่สำคัญ 1,700 จุด ทำให้ตลาดเดินหน้าไปต่ออีกระยะหนึ่งส่วนจะข้ามแนวต้านเหนือ 1,750 จุดได้หรือไม่ ในขณะที่ภาวะการแกว่งตัวของดัชนี เข้าสู่ช่วงไซด์เวย์ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง

ภาวะเช้านี้ แรงส่งของปัจจัย “มือที่มองเห็นจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการกำหนดทิศทางว่าจะเป็นขาขึ้นต่อหรือปรับฐานหรือพักฐาน”

แล้วกระทรวงการคลังก็โผล่หน้ามาเป็นพระเอกในช่วงเวลาเช่นนี้ โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะเข้าจัดเก็บภาษีการขายหุ้น หรือ Transaction Financial Tax ถึงขั้นมีกำหนดการชัดเจนในทางปฏิบัติออกมาแล้ว แต่เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่เหมาะสม จึงขอเลื่อนการใช้นโยบายดังกล่าวออกไป

เหตุผลในการเลื่อนเก็บภาษีที่คาดว่าจะมีรายได้เป็นเงินเข้างบประมาณปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น ทางปลัดกระทรวงการคลังอ้างว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ได้รับผลกระทบทั้งจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้อาจจำเป็นต้องชะลอการจัดเก็บภาษีตัวนี้ออกไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากถามถึงความพร้อมในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ กระทรวงการคลังมีความพร้อม

ส่วนในประเด็นเรื่องอัตราการจัดเก็บนั้น ตนคิดว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น บางประเทศเก็บน้อยกว่าไทย บางประเทศเก็บมากกว่า และขณะที่ บางประเทศเก็บเป็นแบบ Capital gain ไม่ได้เก็บจากการขาย

เอาเป็นว่าการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ ติดโรคเลื่อน ไม่ใช่การยกเลิก เพราะอาจจะเลื่อนไปเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วประกาศไปเรื่อย ๆ แบบการพยายามเก็บภาษี VAT ที่ปีหนึ่งจะมีข่าวให้ลุ้นเรียกเก็บเกิน 7% แต่แล้วก็ประกาศเลื่อนมาเรื่อยนานกว่า 10 ปีเข้าไปแล้ว

มาตรการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นปี 2565 อัตรา 0.1% ของมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านต่อเดือน ถูกกระทรวงการคลังใช้เป็นเงื่อนไขมานับแต่ปลายปีก่อน และจะให้เริ่มมีผลแจงเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปภาษี เพื่อความเป็นธรรมกับรัฐ หลังยกเว้นมานานกว่า 30 ปี

เหตุผลในการพยายามเรียกเก็บภาษีการขายหุ้น เกิดจากความพยายามในการนำเอาภาษีกำไรจากการขายหุ้นหรือ Capital Gain Tax มาบังคับใช้แต่ไม่เคยมีการนำมาใช้จริง เพราะมีความยุ่งยากในการคำนวณมากเกินไป โดยอ้างถึงเหตุผลเก่าแก่ที่ว่ากระทรวงการคลัง ต้องการการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน

มาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565 โดยที่รัฐบาลต้องการให้เกิดสมดุลในตลาดทุน กับตลาดอื่น ๆ ไม่ได้หวังว่าจะหารายได้เข้ารัฐแบบเดียวกับภาษีอื่น ๆ

การเลื่อนการเก็บภาษีการขายหุ้นคราวนี้ออกไป ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการตลาดหุ้น อย่างน้อยสุดก็ผลทางจิตวิทยา เพราะเท่ากับตัดความกังวลเรื่องปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นชั่วคราวไปได้มาก เพียงแต่ที่น่าแปลกใจที่ท่าทีของกระทรวงคลังตอนที่คิดจะจัดเก็บกับตอนที่เลื่อนใช้มาตรการทำไมจึงแปรเปลี่ยนไปอย่างจากหน้ามือเป็นหลังเท้า

เรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นและหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นนั้น มีความพยายามเรียกเก็บมาแล้วหลายครั้ง นับแต่การตั้งตลาดเมื่อเกือบ  50 ปีมาแล้ว และการจะเรียกเก็บทุกครั้งก็มักจะมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านเช่นกัน

ผลลัพธ์คือจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการเก็บภาษีการขายคนที่ซื้อขายหุ้น แต่รัฐก็ไม่เดือดร้อนเพราะภาษีที่ได้รับจากการจ่ายเงินปันผล โบนัสพนักงาน และภาษีอื่น ๆ รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็เต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน เหตุผลคือการเสียภาษีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดไม่มีการหลบเลี่ยงกัน ในขณะที่ภาษีอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แสดงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนมีการหลบเลี่ยงภาษีต่ำมาก

แนวคิดใหม่ของกระทรวงการคลังที่จะเก็บภาษีการขายครั้งนี้ถือว่ามีคนต้านน้อยลงไปมาก เพราะเสียงที่ค่อนข้างเป็นกลางค่อนข้างวางเฉยการขายทุกครั้งทำให้เกิดรายได้ ดังนั้นการเรียกเก็บจึงถูกต้องแล้ว

ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการเก็บภาษี มองว่า ควรเก็บภาษีไม่ว่าการขายหุ้นจะกำไร หรือขาดทุนก็ล้วนมีส่วนทำให้เกิดรายได้ เพราะในการเรียกเก็บภาษีรายได้จากขายหุ้นนั้น จะมีส่วนสร้างความยุติธรรมทางสังคมให้จริงจังให้เพิ่มขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมา นักลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยโดยเฉพาะกองทุนหรือนักลงทุนสถาบันทั้งหลายต่างได้ใช้ประโยชน์จากการไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้จากการขายหุ้น หาประโยชน์จากความมั่งคั่งของตลาดทุนมายาวนาน ที่คนลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนรวม รวมทั้งคนถือหุ้นรับปันผลก็ล้วนเสียภาษีทั้งสิ้น

แนวทางของกรมสรรพากรในการเรียกเก็บภาษีรายได้จากการขายหุ้นนั้น ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วมีความละเอียดรอบคอบพอสมควรเพราะ 1) จัดเก็บจากคนที่ขายหุ้นแต่ละเดือนเกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น 2) ภาษีที่เรียกเก็บต่ำมากเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น

แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และนักวิเคราะห์ทุกสำนักก็เรื่องเอนเอียงไปทางยุให้เก็บภาษีมากกว่าไม่เก็บ ท่าทีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเบื้องต้นยังเป็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้โดยในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่า กรณีที่กระทรวงคลังมีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในตลาดหุ้นไทยช่วงปี 2565 ที่อัตรา 0.1% ของมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนนั้น ตลท.ยอมรับแผนจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ท่าทีโลเลของกระทรวงการคลังคราวนี้ ทั้งที่มีโอกาสอันดียิ่ง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “อายครูไม่รู้วิชา อายภรรยา ยากจะหาบุตรได้” อย่างนั้นทีเดียว

Back to top button