เปิดใจ ‘สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ดัน 7UP ต่อยอดพลังงาน

“ผมจะไม่ทำให้เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล” นี่คือคำพูดที่ออกจากปาก “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ประธานกรรมการ 7UP คนใหม่


เส้นทางนักลงทุน

“ผมจะไม่ทำให้เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล” นี่คือคำพูดที่ออกจากปาก “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ประธานกรรมการบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP คนใหม่ ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยมีผลทันที โดยรอบนี้ 7UP มีการจัดทัพโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ จากก่อนหน้านี้ได้มีมติแต่งตั้ง “วุฒิชัย กัลยาณมิตร” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.แล้ว

“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้มีโอกาสเปิดใจ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงการเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด 7UP ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ “สมยศ” เข้ารับตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้คำตอบว่า ได้รับการเชื้อเชิญจากคณะกรรมการบริษัท เนื่องจาก นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระเพื่อลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ในฐานะที่ “กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง” ประกอบด้วย สมยศ, ชมกมล และ รชต มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันกว่า 968.33 ล้านหุ้น  คิดเป็นสัดส่วน 18.83% ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1  แซงหน้ากลุ่มบริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด ที่ถือหุ้นจำนวน 915.40 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 17.80% แล้ว

สมยศ” เล่าว่า ถือหุ้นตัวนี้มาตั้งแต่ยังเป็น บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ตอนนั้นมีต้นทุนมากกว่า 10 บาท ต่อมาราคาหุ้นดิ่งเหว แต่ไม่ยอมตัดใจขายทิ้ง โดยเลือกใช้กลยุทธ์ซื้อถัวเฉลี่ยมาตลอด จนกระทั่งต่อมาบริษัทนี้ได้กลายร่างเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. เฟอร์รั่ม (FER) ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม และโทรศัพท์มือถือ ทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงการเป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia และให้บริการอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง การออกแบบและติดตั้งระบบโทรคมนาคม และ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้แก่ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จากนั้นจึงได้มีการกลายร่างรอบใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น 7UP อีกทอดหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีต้นทุนในการถือหุ้นตัวนี้ต่ำเพียง 0.30 บาท หรือ 30 สตางค์

ทั้งนี้ภายหลังการเปลี่ยนชื่อเป็น 7UP แล้ว โครงสร้างทางธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาจับ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจสถานีบริการแก๊สและน้ำมัน 2. กลุ่มธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และ Internet of Things (IoT) 3. กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน 4. กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค และ 5. กลุ่มธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม แต่จุดเด่นของ 7UP กลับอยู่ที่บริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่ได้สัมปทานขายน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในจังหวัดภูเก็ต มีอายุ 20 ปี และขอขยายเพิ่มอีก 10 ปี รวมเป็น 30 ปี

สำหรับ 7UP แล้ว “สมยศ” มองว่ามีอนาคตที่สดใส เพราะหากจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นกลับมา ความต้องการใช้น้ำในจังหวัดภูเก็ตจะเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายจะผลักดันให้บริษัทนี้ต่อยอดไปทางด้านพลังงานทดแทนอีกด้วย

“ตอนนี้มีคนดีลธุรกิจพลังงานเข้ามา 2-3 ดีล แต่ผมยังไม่ตัดสินใจ ผมจะขยายไปทางนั้น ทั้งซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ   เป็นพันธมิตรร่วมมือกัน ผมเปิดกว้างทุกอย่าง ถ้าคุยกันแล้วลงตัว”

เขายอมรับว่า “กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง” คงจะไม่ถือหุ้น 7UP ไปชั่วฟ้าดินสลาย ดังนั้นในอนาคต เมื่อบริษัทมีพัฒนาการที่ดี มีความมั่นคง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็อาจจะมีการตัดขายหุ้นออกบางส่วน หรือ อาจจะขายออกทั้งหมด แต่จะไม่ใช่วิธีการขายแบบเอาตัวรอด หรือ การลอยแพผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ เพื่อทำให้นักลงทุนเจ็บตัว โดยหากตัดสินใจที่จะขายหุ้นตัวนี้ก็จะเลือกวิธีที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะไม่ต้องการทำให้เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

“ตอนที่หุ้นตัวนี้วิ่งทะลุเกิน 3 บาท ขึ้นไป ผมก็ไม่ได้ขาย แต่ลูกชายอาจมีการขายออกไปบ้าง 10-20 ล้านหุ้น ก็เป็นแค่เศษหุ้น ผมบอกลูกชายแล้วว่า เราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และนั่งเป็นบอร์ดด้วย เราไม่ควรจะซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นตัวเอง เพราะจะทำให้ราคาผันผวน ตอนนี้กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วงไม่มีใครขายหุ้นตัวนี้ออกแล้ว”

“สมยศ” เล่าว่าสำหรับ “กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง” แล้ว ในขณะนี้ให้ความสำคัญกับ บจ.2 แห่ง ที่นับเป็นธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากมีสัดส่วนถารถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นั่นคือ 7UP และ บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ที่มี สมยศ, ชมกมล และ รชต ถือหุ้นรวมกันกว่า 158.34 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30.53% ขณะที่มี อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้นกว่า 84.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 16.39% และ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ถือหุ้น 37.31 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.20% ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WP มาด้วยกัน

ส่วนการถือหุ้นใน บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) จำนวน 12.29 ล้านหุ้น (1.22%), บมจ.สามารถ ดิจิตอล(SDC) รวมทั้งกลุ่มจำนวน 432.83 ล้านหุ้น (3.28%), บมจ.อาร์เอส (RS) และ บมจ.ที.เค.เอส.เทคโนโลยี (TKS) ถือเป็นเพียงการลงทุนสำหรับลูกหลานเท่านั้น

“สมยศ” ปิดท้ายการเปิดใจในครั้งนี้ว่า “ผมมีชื่อเสียง ผมสร้าง ผมสะสมความน่าเชื่อถือมายาวนาน จนคนยอมรับว่าผมเป็นคนตรงไปตรงมา แค่มีการประกาศว่าผมมานั่งเป็นประธานบอร์ด 7UP  ราคาหุ้นก็ตอบรับในทางที่ดีแล้ว เมื่อผมหาธุรกิจเข้ามาเพิ่ม ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่ม ก็จะเกิดการเทิร์นอะราวด์ แต่เราจะทำให้ดีแบบยั่งยืน ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมจะไม่ยอมทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล”

นี่คือบทสรุปส่งท้ายการเปิดใจ “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ประธานกรรมการบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7UP คนใหม่ ส่วนหุ้น 7UP จะสดใสมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต

Back to top button