เฟดเร่ง QT ป่วนหุ้นโลกร่วงยกแผง
การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีแรก จะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักจากมาตรการ QT, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการแพร่ระบาดของโควิด
เส้นทางนักลงทุน
ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 มี.ค. ในวันพุธตามเวลาสหรัฐฯ โดยระบุว่า กรรมการเฟดเห็นพ้องที่จะปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างเร็วที่สุดในเดือน พ.ค.นี้ นอกจากนี้ กรรมการเฟดหลายคนยังสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวนหนึ่ง หรือสองครั้ง ในการประชุมวันข้างหน้า หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างมาก
รายงานการประชุมเฟดถือเป็นการตอกย้ำมุมมองของ “ลาเอล เบรนาร์ด” หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด ซึ่งกล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และเร่งปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก
การแสดงความเห็นดังกล่าวทำให้ตลาดวิตกกังวลว่า เฟดอาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง หรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะนี้ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือน พ.ค.และ มิ.ย. ที่จะถึงนี้ และคาดว่าเฟดจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแตะระดับ 2.50-2.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งสูงกว่า 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง จนอาจทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะลอตัวได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสะท้อนความวิตกกังวลของนักลงทุนทันที โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 ปิดที่ 34,496.51 จุด ลดลง 144.67 จุด หรือ ลดลง 0.42%, ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,481.15 จุด ลดลง 43.97 จุด หรือ ลดลง 0.97% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,888.82 จุด ลดลง 315.35 จุด หรือ ลดลง 2.22% ทั้งนี้ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 หลังเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมดังกล่าว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นเหนือ 2.65% สูงสุดในรอบ 3 ปี
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 27,032.42 จุด ลดลงทันที 317.88 จุด หรือ ลดลง 1.16% และยืนปิด ณ สิ้นวันทำการที่ 26,888.57 จุด ลดลง 461.73 จุด หรือ ลดลง 1.69%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ 21,910.40 จุด ลดลง 170.12 จุด หรือ ลดลง 0.77% มายืนปิด ณ สิ้นวันทำการที่ 21,808.98 จุด ลดลง 271.54 จุด หรือ ลดลง 1.23% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดที่ 3,267.81 จุด ลดลง 15.62 จุด หรือ ลดลง 0.48% มาปิดที่ 3,236.70 จุด ลดลง 46.73 จุด หรือลดลง 1.42%
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) หลุดระดับ 1,700 จุด โดยลดลงไปต่ำสุดที่ 1,674.81จุด ลดลงกว่า 26 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาพยุงให้ดัชนีปรับตัวดีขึ้นยืนปิดที่ 1,682.41จุด ลดลง 18.77 จุด หรือ ลดลง 1.10%
หลังจากเกิดวิกฤตโควิดในปี 2563 จนเศรษฐกิจชะงักครั้งใหญ่ ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะเฟดต่างพากันกระตุ้นเศรษฐกิจกันแบบเต็มที่ ทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเหลือศูนย์หรือติดลบ และนำมาตรการ Quantitative Easing หรือ QE กลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยขนาดและความเร็วของการกระตุ้นที่ทั้งใหญ่และรวดเร็วกว่าวิกฤตการเงินโลกในปี 2551ครั้งก่อนมาก
แต่เมื่อเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้น ตลาดแรงงานกลับมาแข็งแกร่ง และแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางหลาย ประเทศเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น และส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจในอัตราที่ลดลง รวมถึงการถอนการกระตุ้นด้วย QE สัญญาณเหล่านี้กำลังบอกว่าภาวะสภาพคล่องล้น และอัตราดอกเบี้ยต่ำกำลังจะผ่านไป อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ทางการเงินและภาวะการลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากภาวะดังกล่าว และสร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทย ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
การดูดสภาพคล่องทางการเงินในระบบกลับ หรือ การใช้ “มาตรการ Quantitative Tightening หรือ QT เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่กำลังทะยานตัวอยู่ในเวลานี้ การเร่งทำ QT ภายหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ย่อมจะมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกและของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางความวิตกกังวลการเร่งทำ QT และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว แต่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยแล้ว นักลงทุนต่างชาติกลับมีแรงซื้อสุทธิเข้ามาอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกปีนี้ต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทยแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน
และแม้ว่าทั้งปีนี้เฟดจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5-6 ครั้งก็ตาม แต่ในส่วนของคณะกรรมการนโนบายการเงิน หรือ กนง.ส่งสัญญาณว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบได้ และเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้แม้จะชะลอตัวลงก็ตาม ขณะที่บรรดากูรูด้านเศรษฐศาสตร์คาดว่าหากไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จริง ก็คงดำเนินการเพียงแค่ 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25%
ดังนั้นภาพรวมสถานการณ์การลงทุนในปีนี้ น่าจะมีความผันผวนไม่น้อย โดยประเมินว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก จะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก เพราะนอกจากมาตรการ QT และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแล้ว ปัจจัยกดดันเดิม ๆ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิดก็ยังไม่ได้หมดไป ขณะที่ปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, ราคาน้ำมัน, ราคาวัตถุดิบก็ยังต้องติดตามต่อเนื่อง
ขณะที่การลงทุนมีความเสี่ยง…กลยุทธ์การลงทุนที่ดี นักลงทุนจึงควรเตรียมความพร้อมรับมือและปรับพอร์ตลงทุนให้เท่าทันสถานการณ์ตลอดเวลานั่นเอง