CENTEL รับผลบวกเปิดเมือง

บล.ฟิลลิป มองบวกต่อการดำเนินงานปี 2565 ของ CENTEL แม้ยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่รุนแรงน้อยกว่าปีก่อน


คุณค่าบริษัท

การกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการยกเลิกการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ล่วงหน้า 72 ชั่วโมง ก่อนเข้าประเทศไทย รวมทั้งการที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นวันที่ 1 ก.ค. 2565 และประกาศยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจการบิน ท่องเที่ยว และโรงแรมที่จะหนุนการฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลังอย่างชัดเจน หนึ่งในนั้น คือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ที่จะได้รับปัจจัยบวกดังกล่าว

โดยผู้บริหารคาดว่า ในปี 2565 ผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโต โดยตั้งเป้ารายได้ต่อห้องพัก (RevPar) ที่ 1,700-1,900 บาท เพิ่มขึ้นจาก 849 บาทในปี 2564 และอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นเป็น 40-50% จากปี 2564 อยู่ที่ 19% โดยคาดหวังจะมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในปีนี้ราว 5,900 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอาหาร คาดยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) เติบโต 10-15% จากปีก่อน และยอดขายรวมทุกสาขาเพิ่มขึ้น 10-25% จากปีก่อน โดยจะมาจากการขยายสาขาเพิ่มประมาณ 180-200 สาขา ส่งผลทำให้คาดว่ายอดขายโดยรวมปีนี้จะกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562

ขณะที่ในปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 3,300 ล้านบาท แบ่งเป็นของธุรกิจโรงแรม 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการสร้างโรงแรมในมัลดีฟส์ 2 แห่ง และการสร้าง Centara Grand Hotel Osaka คาดใช้งบราว 1,000 ล้านบาท ที่เหลือจะใช้ในการปรับปรุงและปรับภาพลักษณ์โรงแรม เช่น Centara Grand Beach Resort & Villas Krabi, Centara Karon Resort Phuket เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 คาดจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเดือน ม.ค. 2565 ทำได้ดีกว่าคาด ทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โดยธุรกิจโรงแรม มี OCC อยู่ที่ 30% หลัก ๆ มาจากโรงแรมในมัลดีฟส์ที่มีอัตราเข้าพักสูงต่อเนื่อง 85% และดูไบทำได้ 60% ส่วนธุรกิจอาหาร ยอดขายในเดือน ม.ค. 2565 ทำได้ใกล้เคียงกับเดือน ธ.ค. 2564 ที่ทำได้ราว 900 ล้านบาท

ด้าน บล.ฟิลลิป มองบวกต่อการดำเนินงานปี 2565 ของ CENTEL แม้ยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่รุนแรงน้อยกว่าปีก่อน เนื่องจาก 1 ) โรงแรมโมเมนตัมยังดี หนุนจากโรงแรมมัลดีฟส์ที่ดีขึ้นต่อเนื่องและดูไบ และ 2) ธุรกิจอาหาร โดยยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) เดือน ก.พ. โตน้อยกว่าเดือน ม.ค. เล็กน้อย และมีปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ แต่ปีนี้น่าจะกลับไประดับเดียวกับ Pre Covid-19 ได้ หากสงครามไม่ยืดเยื้อและนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ทำให้ทั้งปีคาดจะพลิกมีกำไรที่ 868 ล้านบาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. บริษัท เตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด 67,523,190 หุ้น 5.00%
  2. นายนิติ โอสถานุเคราะห์ 41,314,611 หุ้น 3.06%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 40,259,857 หุ้น 2.98%
  4. นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ 31,170,141 หุ้น 2.31%
  5. นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ 29,263,374 หุ้น 2.17%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ
  2. นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการ
  3. นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  4. นายสุทธิศักดิ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการ
  5. นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ กรรมการ
  6. นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการ
  7. นางจินตนา บุญรัตน์ กรรมการ
  8. นางสิริเกศ จิรกิติ กรรมการ
  9. น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  10. นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  11. นายเกริด เคิร์ก สตีป กรรมการอิสระ
  12. นายนรชิต สิงหเสนี กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  13. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ กรรมการอิสระ

Back to top button