ส่อง BBLลูบคมตลาดทุน
แบงก์กรุงเทพ หรือ BBL ราคาปิดวานนี้ 168 บาท
ธนะชัย ณ นคร
แบงก์กรุงเทพ หรือ BBL ราคาปิดวานนี้ 168 บาท
ราคานี้หากเทียบกับปิดตลาดตอนสิ้นปี 2557 ที่ระดับ 194 บาท นั่นเท่ากับว่า หุ้น BBLราคาลดลงมา 13.40%
แต่หากดูราคาที่ปิดตลาดต่ำสุดในรอบปีนี้ ก็พบว่าจะอยู่ที่ 159 บาท ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง
ผลประกอบการไตรมาส 3 อย่างที่รับทราบกันไปแล้วว่า พวกเขามีกำไรสุทธิ 9,057 ล้านบาท ลดลง 5.4% และช่วง 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 26,499 ล้านบาท ลดลงเช่นกัน 3.9%
ปัจจัยที่กดดันกำไรก็มาจากเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นนั่นแหละ
และก็ทำให้ธนาคารต้องกันสำรองเพิ่มขึ้น
จริงแล้ว หากดูตัวเลขสำคัญทางการเงิน หรือตัวเลขที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน
BBL จัดว่าเข้มแข็งสุดๆ และแกร่งสุดในกลุ่มธนาคาร
อย่าง Coverage Ratio หรืออัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ระดับ 172.5% สูงสุดในกลุ่มธนาคาร
อัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 16.6%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงการ “ตั้งการ์ด” ที่แน่นมากๆ ของแบงก์เก่าแก่แห่งนี้
BBL ถูกมองว่าเป็นแบงก์ที่มีการบริหารที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ หรือแนวๆ อนุรักษนิยม อะไรแบบนั้น
และก็ดูเหมือนว่า ผู้บริหารของ BBL ก็ยอมรับเช่นนั้น
ว่ากันว่า การบริหารในสไตล์แบบนี้ หากเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง หรือเผชิญกับวิกฤตหนักๆ ก็มักจะไม่ค่อยเผชิญปัญหาเหมือนกับองค์กรที่บริหารในรูปแบบเชิงรุก หรือ Aggressive
ทว่า ในมุมมองของนักลงทุนหลายคนก็อาจไม่ค่อยชอบหุ้นแบบนี้เท่าไหร่
เว้นแต่พวกนักลงทุนระยะยาว หรือกองทุนต่างๆ
หุ้น BBL ในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างเยอะ มีมูลค่าการซื้อขายต่อวัน ติดอันดับ 1 ใน 10 หรือ 20 มาโดยตลอด
ส่วนช่วงนี้บางวันหลุดท็อป 20 ก็มี
แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าหุ้น BBL ไม่ดีนะ เพียงแต่ว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารตอนนี้มันดูเซื่องๆ ลงไปซักหน่อย ตามผลประกอบการ ตามหนี้เสียที่เกิดขึ้น
แต่หากช่วงไหนที่ราคาลงมาต่ำมากเกินไป
เราก็จะเห็นแรงซื้อเข้ามาทันที
ผมอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกฯ หลายสำนัก ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BBL
ไม่มีใครบอกให้ขายเลย
ซื้อ ซื้อ… และถือ (บ้าง) เท่านั้น
จุดแข็งของ BBL ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ เรื่องหลังบ้าน หรือเงินกองทุนต่างๆ ที่สำรองไว้เต็มตุ่ม หรือล้นตุ่มครับ
และอีกเรื่อง คือ การลงทุนในต่างประเทศที่ปัจจุบัน BBL ได้เข้าไปลงทุนจนมีเครือข่ายอยู่กว่า 30 แห่ง ใน 14 ประเทศ และยังมีธนาคารตัวแทนอีกกว่า 1 พันแห่งทั่วโลก
ล่าสุด BBL ก็เพิ่งได้รับยกระดับจากสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาเต็มรูปแบบที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์
BBL ตั้งเป้าว่า จะให้สาขาที่ย่างกุ้งติดอันดับ 1 ใน 5 ของอาเซียนในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้าครับ
BBL มองว่าที่เมียนมาร์นั้น มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอีกมาก นอกเหนือจากในประเทศมาเลเซีย ชื่อ บางกอก แบงก์ เบอร์ฮาด และในสาธารณรัฐประชาชนจีน ชื่อ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร
และยังมีสาขาในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และอยู่ในศูนย์กลางทางการเงินของโลกทั้งในสหรัฐ และสหราชอาณาจักร
เรื่องการลงทุนในต่างประเทศ อย่างของ บล.โกลเบล็ก เขาก็บอกไว้ครับ
BBL จะได้รับประโยชน์การขยายฐานการทำธุรกรรมของลูกค้าในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC
และหากปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่ง BBL จะได้รับประโยชน์อย่างมาก
ราคาหุ้นมีอัพไซด์อยู่เยอะครับ