BEAUTY ในวันที่ไร้ ปาฏิหาริย์
เหลืออย่างเดียวที่จะทำให้คำมั่นสัญญาไม่ใช่ลมแล้ง เท่านั้น คำพูดของนายพีระพงษ์และหมอสุวินถึงจะน่าเชื่อถือ ไม่ใช่สัญญาพล่อย ๆ
ระยะหลังมานี้ เราได้เห็น นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ออกมารับหน้าเสื่อแถลงข่าวแทนหมอสุวิน ไกรภูเบศ มากขึ้นกว่าปกติ ……ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ต้องมีคนหน้าใหม่แบบมืออาชีพเข้ามารับหน้าที่แทนผู้ก่อตั้ง
ล่าสุด นายพีระพงษ์ นักการตลาดที่มีประสบการณ์อันยาวนานในเวทีนี้ ออกมาบอกในงานแถลงข่าวทิศทางธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2565 ว่า คาดปีนี้บริษัทฯ จะพลิกมีกำไร เนื่องจากบริษัทเร่งลดต้นทุนมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
พร้อมกับบอกว่า คาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 65% อยู่ที่ 680 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้แบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย ได้แก่ ช่องทางต่างประเทศ 37%, ช่องทางค้าปลีก (Retail) 27%, ช่องทางค้าส่ง (Trading) 24% และช่องทาง E-Commerce 12% อีกทั้งบริษัทฯ จะรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10%
การประกาศว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมคาดว่าเกือบจะล้างได้หมดในปีนี้ จากประโยชน์ทางภาษีและการปรับโครงสร้างบางอย่าง ทั้งนี้คาดหวังรายได้อีกประมาณ 3 ปี จะกลับไปยืนระดับรายได้ 3 พันล้านบาท เหมือนอดีต ……ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่นักลงทุนต้องช่วยกันบันทึกเอาไว้
คำมั่นสัญญาดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ยังต้องการบทพิสูจน์ที่แท้จริงจากผลประกอบการไตรมาสแรก หลังจากที่ผิดหวังมาตลอด 2 ปีนี้ จนราคาหุ้นตกต่ำมาอยู่ใต้ 1.50 บาทยาวนาน
กลายจากหุ้นที่มีกำไรสวยงามเป็นหุ้นเก็งกำไรช่วงสั้น ๆ ไปเสียแล้ว
เหตุผลเพราะนักลงทุนที่เคยถือหรือติดหุ้นการตลาดความงามอย่างบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY คงต้องกลับไปทบทวนคำพูดเก่า ๆ ของนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างเบนจามิน แกรห์มกันอีกครั้ง และทำความเข้าใจกับคำว่า “ขีดเส้นใต้” หรือ Bottom line กันให้ชัดเจนอีกครั้ง
ในอดีต หุ้น BEAUTY เคยสร้างปาฏิหาริย์จนราคาหุ้นเคยวิ่งไปถึง 40 บาท แต่ระยะหลังถอยร่นลงมาเพราะเหตุผล 2 ประการหลักคือ 1) การขายหุ้นชนิด “ทิ้ง” ของหมอสุวินและครอบครัวจนเหลือสัดส่วนต่ำกว่า 30% ของหุ้นทั้งหมด 2) ยอดรายได้ในจีนที่ตกฮวบของสินค้าเวชภัณฑ์ในแบรนด์ดังของบริษัท จากภาวะโควิด-19
ล่าสุดกำไรสะสมที่เกือบเกลี้ยงของ BEAUTY สะท้อนถึงบุ๊กแวลูที่หดหายเหลือเพียง 0.26 บาท ก็เป็นคำอธิบายว่าทำไมราคาหุ้นของรายนี้จึงไม่มีปาฏิหาริย์ที่เคยทำให้ค่าพี/อีของหุ้นตัวนี้มากกว่า 45 เท่า จนทำให้คนในตระกูลไกรภูเบศกลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านอย่างรวดเร็ว
จะบอกว่า BEAUTY เป็นหุ้นที่เจอทั้งวิกฤตศรัทธาและวิกฤตจริงก็คงไม่ผิดอะไร
คำมั่นสัญญาที่นายพีระพงษ์ออกมาให้ไว้กับนักลงทุนจึงเป็นภาคบังคับ เพราะ BEAUTY ไม่สามารถขาดทุนต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากการขาดทุนต่อไปจะส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนสะสมติดลบไปอีกยาวนาน ส่งผลต่อราคาหุ้นให้ต่ำลงไปอีก
จากนี้ไป คงหนีไม่พ้นเป็นหุ้นที่ปกติธรรมดาที่ต้องพึ่งพาผลประกอบการขับเคลื่อนราคาเป็นหลัก
กำไร และอัตราเติบโตของกำไรที่เป็นขาลง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (แม้จะยังมีกำไรแทรกในงบไตรมาส) คือปัจจัยที่ลากเอาเทวดาลงมาเดินดินง่ายมานักต่อนัก ราคาหุ้น BEAUTY ก็หนีไม่พ้น
BEAUTY เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2555 และเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แม้อัตราเงินปันผลตอบแทนจะไม่สูงก็ตาม
วันเวลาที่นักลงทุนเคยจดจำเกี่ยวกับ ช่วงที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคา 8 บาท จากพาร์ 1 บาท (ปัจจุบันปรับพาร์เหลือ 10 สตางค์ ) กลุ่มไกรภูเบศถือหุ้นเมื่อแรกเข้าจดทะเบียน ในสัดส่วนประมาณ 70% ของทุนจดทะเบียน ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
แม้ว่าปัจจัยหลัก 2 ประการที่ส่งผลให้ราคาร่วงมากในระดับปัจจุบันจะถูกเสริมด้วย ปัจจัยจากผลกระทบต่อเนื่องเรื่องของ อย. จากการปราบปรามสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายของบริษัทอื่นเมื่อปี 2561 ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเครื่องสำอางมากขึ้น …จะผ่านไปแล้ว ความคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องการเห็นราคาหุ้น BEAUTY เป็นขาขึ้นระลอกใหม่ก็ยังไม่จางหายไป
ทางออกที่ผู้บริหารแจ้งในงบการเงินคือ บริษัทยังคงพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อรองรับทิศทางของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น จนสามารถจะพลิกกลับมาทำกำไรขาขึ้นอีกครั้งยังไม่ถึงกับมอดไหม้ไป
เหลืออย่างเดียวที่จะทำให้คำมั่นสัญญาไม่ใช่ลมแล้ง เท่านั้น คำพูดของนายพีระพงษ์และหมอสุวินถึงจะน่าเชื่อถือ ไม่ใช่สัญญาพล่อย ๆ
ราคาหุ้น BEAUTY ไม่สามารถพึ่งพาปาฏิหาริย์ได้อีกแล้วนั่นเอง