ถึงเวลาเปิดทางให้ ‘ผู้นำรุ่นใหม่’
การปรับเปลี่ยนแนวคิดและโฉมหน้าของการเมืองสิงคโปร์ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือแล้ว
เห็นข่าว นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุงของสิงคโปร์ แถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จะให้ “ลอเรนซ์ หว่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอายุเพียง 49 ปี เป็นผู้นำสิงคโปร์ต่อจากเขา ก็รู้สึกเข้าใจได้ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงบ่นอยากย้ายประเทศกันเสียเหลือเกิน
การตัดสินใจให้นักการเมืองอายุน้อยขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคกิจประชาชน หรือ พีเอพี ถือเป็นธรรมเนียมใหม่และมิติใหม่สำหรับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้นำของทุกประเทศในภูมิภาคล้วนแต่มีอายุเกิน 60 ปีทั้งนั้น เนื่องจากมักเน้นเรื่อง “อาวุโส” มากกว่ามองที่ “ความสามารถ”
แม้ว่าสิงคโปร์ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เพราะพรรค พีเอพี ผูกขาดอำนาจในการบริหารประเทศมายาวนานนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชเมื่อปี 2511 แต่พรรคก็ได้บริหารประเทศจนสิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและธุรกิจต่างชาติ และยังเป็นศูนย์กลางการเงิน และการบินที่กำลังโดดเด่นกว่าฮ่องกงขึ้นไปทุกวัน ในขณะที่การเมืองของชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคยังคงวุ่นวาย มีการแก่งแย่งอำนาจกันเป็นนิจศีล โดยมีนักการเมืองหน้าเก่า ๆ ตระกูลเก่า ๆ เป็นผู้แสดงนำ
หว่องได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคกิจประชาชนรุ่นที่สี่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งเปิดทางให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีกล่าวว่า มีแผนการที่ จะให้หว่อง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเขาก่อนหรือหลังจากที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปหากพรรคพีเอพีชนะเลือกตั้ง ซึ่งสิงคโปร์มีกำหนดเลือกตั้ง ในปี 2568
นี่คือการวางแผนเปลี่ยนถ่ายผู้นำล่วงหน้าถึง 4 ปี ในขณะที่บ้านเรา ยังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่างและยังต้องลุ้นกันว่าจะได้เลือกตั้งหรือไม่ทั้งที่รัฐธรรมนูญปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปีหน้าเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัยแล้ว โดยที่ยังไม่นับรวมการขึ้นครองอำนาจเพราะการปฏิวัติตั้งแต่ปี 2557
การตัดสินใจเลือกหว่องเป็นหัวหน้าพรรค มีขึ้นหลังจากที่ รองนายกรัฐมนตรี เฮง สวี เกียต ซึ่งมีอายุ 60 ปี ตัดสินใจอย่างไม่คาดคิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า จะไม่สืบทอดตำแหน่งต่อจากลี ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิดไปได้ในอีกราว 5 ปี เขาก็น่าจะมีอายุมากเกินกว่าที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แล้ว ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำที่อายุน้อยกว่าเขาได้เข้ามาทำหน้าที่แทน และยังบอกว่า สิงคโปร์ ต้องการผู้นำที่ไม่เพียงแต่สามารถฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งได้หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 แต่ยังต้องสามารถพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าสู่ขั้นต่อไปด้วย
การให้เหตุผลที่คำนึงถึง “ประโยชน์ของชาติ” เป็นหลักของนักการเมืองคนสำคัญของสิงคโปร์ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในบ้านเมืองเรา ตั้งแต่จำความได้ เราได้เห็นการปฏิวัติ หรือ แก่งแย่งอำนาจ อย่าง “หน้าด้าน ๆ” มาไม่รู้กี่ครั้ง และ ไม่ว่าประชาชนจะออกมาเดินขบวนประท้วงขับไล่กี่ยุคกี่สมัย เราก็ยังไม่เคยมีผู้นำและนักการเมือง ที่ยอมปลดระวางตัวเองแบบสิงคโปร์เลย มีแต่จะพยายามกุมอำนาจไว้เหนียวแน่น หรือหากมี ก็ส่วนมากก็ดีแต่พูด เอาเข้าจริงก็ไป “ตามน้ำ” ตลอด
การเลือกหว่องขึ้นมาสืบทอดยังไม่ได้สักแต่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เขาได้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แล้วเมื่อได้เป็นประธานร่วมคณะทำงานเฉพาะกิจของรัฐบาลในการรับมือการระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่า สิงคโปร์บริหารจัดการวิกฤติโควิดได้ดีในลำดับต้น ๆ ของโลก
ก่อนที่หว่องได้เป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อปีที่ผ่านมา เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมือง เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม การเงินและสุขภาพ นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งเลขาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ระหว่างปี 2548 ถึง พ.ศ. 2551 และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานตลาดพลังงานระหว่างปี 2551 ถึง พ.ศ. 2554
หลังจากจบมัธยมศึกษา ได้รับทุนคณะกรรมการการบริการสาธารณะไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันจนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 จากนั้นจบปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน-แอนน์ อาร์เบอร์ และปริญญาโทด้านการบริหารรัฐกิจที่จอห์น เอฟ. เคนเนดี สคูล ออฟ กอฟเวิร์นเมนต์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ด้านชีวิตส่วนตัว พ่อของหว่องเป็นผู้บริหารฝ่ายขาย ส่วนแม่เป็นครูโรงเรียนประถม พี่ชายเป็นวิศวกรการบิน เขาสมรสเมื่ออายุ 28 ปี แต่ได้หย่ากับภรรยาคนแรกหลังจากอยู่กินกันได้ 3 ปีเพราะเข้ากันไม่ได้ และหลังจากนั้นก็ได้แต่งงานใหม่
หว่องได้ไปปราศรัยเป็นครั้งแรกในขณะที่ไปเยือนอเมริกาหลังจากที่ได้มีการประกาศให้เขาขึ้นเป็นผู้นำรุ่นต่อไป ว่า รัฐบาลและสังคมในปัจจุบันเผชิญกับความไม่แน่นอนมาก และมีความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้งของการเติบโต การรวมผู้คนทุกกลุ่มในสังคม (Inclusion) และความยั่งยืน ประเทศต่าง ๆ จะต้องตอบโต้ด้วยการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
ด้วยคุณสมบัติพร้อมและเก่งกาจเช่นนี้ อีกห้าปีข้างหน้า สิงคโปร์ก็น่าจะยิ่งเจริญ นำห่างประเทศไทยออกไปมากขึ้น ยกเว้นแต่ว่าจะเกิด “ปาฏิหาริย์” หรือมีอะไรมาดลใจให้ เหล่าอีลีท หรือนักการเมืองในบ้านเรา “เบิกเนตร” แล้ว “ยอมรับ” ความคิดใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติ มากกว่าการรักษาอำนาจแห่งตนและใช้สถานะอภิสิทธิ์ชนเพื่อปกครองบ้านเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า
การปรับเปลี่ยนแนวคิดและโฉมหน้าของการเมืองสิงคโปร์ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือแล้ว และผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. น่าจะเป็นตัวชี้วัดตัวแรกได้ว่า สังคมไทยพร้อมที่จะ “เปลี่ยนแปลง” และเปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” มากขนาดไหน