ม.44 สร้างชาติ?ทายท้าวิชามาร
คสช.จะอยู่ยาวถึงกลางปี 2560 โดยระหว่างนี้ก็จะใช้อำนาจสร้างความพึงพอใจให้สังคม พร้อมกับใช้ “กระบวนการยุติธรรมในสภาพไม่ปกติ” จัดการนักการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใน “ระบอบประชาธิปไตยจัดสรรปันส่วน” ที่มีกองทัพและเครือข่ายอำนาจจารีตเป็นผู้จัดสรรปันส่วน
คสช.จะอยู่ยาวถึงกลางปี 2560 โดยระหว่างนี้ก็จะใช้อำนาจสร้างความพึงพอใจให้สังคม พร้อมกับใช้ “กระบวนการยุติธรรมในสภาพไม่ปกติ” จัดการนักการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใน “ระบอบประชาธิปไตยจัดสรรปันส่วน” ที่มีกองทัพและเครือข่ายอำนาจจารีตเป็นผู้จัดสรรปันส่วน
เราจึงเห็นการใช้ ม.44 “นิรโทษกรรมล่วงหน้า” ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่จะสรุปความเสียหายเรียกค่าชดใช้โครงการจำนำข้าว พร้อมกับจะใช้ ม.44 แก้ปัญหาการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ลดขั้นตอนก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ แบบเดียวกับใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จัดระเบียบสังคม ปราบมาเฟีย “ปราบโกง” ซึ่งถ้าถามว่าสังคมไทยพึงพอใจไหม ก็พึงพอใจสิครับ ท่านจึงได้คะแนนท่วมท้น
ที่จริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” ปราบ “2499 อันธพาลครองเมือง” รัฐประหาร 2519 ก็กวาด “ภัยสังคม” รสช.ปี 35 เจ้าพ่อใหญ่ก็ตายปริศนา รสช.ยังตั้งรัฐบาลอานันท์ “โปร่งใส” วิสัยทัศน์กว้างไกล วางกรอบกติกาเอื้อการพัฒนาประเทศไว้หลายด้าน รวมทั้งเพิ่มบทบาทประชาสังคม เช่น เมกะโปรเจ็กต์ต้องทำประชาพิจารณ์ ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ คสช.กำลังจะใช้ ม.44 ลดขั้นตอนอยู่นี่ไง
พูดอย่างนี้ ยอมรับว่ารัฐประหารเข้ามา “ทำสิ่งดีๆ” ใช่ไหม ใช่สิครับ รัฐประหารทุกยุคต้องเอาใจชาวบ้าน ไม่ใช่ใช้ปืนบังคับกันอย่างเดียว รัฐประหารมักรวบรวมปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้ไข ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยนอกจากใช้เวลา ยังต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ตั้งแต่ฝ่ายค้านไปถึงสมาคมโลกแข็ง ฟ้องศาลคัดค้านกฎหมายล้มโครงการรัฐบาลได้
เมื่อรัฐประหารรวมประเด็นต่างๆ มาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการ ก็ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจ โห ใครไม่อยากให้สร้างรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มัวรอ EIA ทำไม แบบเดียวกับรัฐประหารออกกฎหมายรวดเร็วทันใจหลายร้อยฉบับ กระทั่งพูดเป็นตลกร้ายได้ว่าถ้าไม่มีรัฐประหารทุก 10 ปี ก็จะมีร่าง พ.ร.บ.ค้างเต็มสภา
ประเทศไทยใช้สูตร “วงจรอุบาทว์” นี้ 60-70 ปีแล้ว การเมืองมีปัญหา รัฐประหารก็เข้ามา “จัดระเบียบ” พัฒนา อะไรที่นักการเมือง นักวิชาการ ประชาสังคม คิดไว้แต่ไม่สามารถทำ รัฐประหารทำให้ จนทำให้เกิดนวัตกรรม copycat คือแก้ปัญหาในกระบวนการประชาธิปไตยได้ ก็ไม่แก้ สร้างสถานการณ์ให้รัฐประหารดีกว่า
อ้าว งั้นถามว่ามันเสียตรงไหน มีแต่ประชาธิปไตยไม่มีรัฐประหารคั่นเวลา ประเทศอาจไม่พัฒนามาขนาดนี้ก็ได้
ข้อแรก ขอให้เห็นตอนจบก่อนสิครับ ค่อยนับศพ เอ๊ย นับคะแนน สฤษดิ์-ถนอม ลงเอยด้วย 14 ตุลา รัฐบาลหอยถูกรัฐประหารซ้อน รสช.ก็ลงเอยด้วยพฤษภา 35 รัฐประหาร 49 สร้างปัญหายังไม่จบจนต้องมี 57
ความขัดแย้งรอบนี้ใหญ่โตกว่า กว้างขวางกว่าสมัย 6 ตุลาหรือปี 35 จนเทียบกันไม่ได้ ลำพัง “รัฐประหารกินได้” ทำประโยชน์ให้ประชาชนในบางเรื่อง ไม่แน่ว่าเอาอยู่
ข้อสอง รัฐประหารสร้างความเสียหายให้พัฒนาการประชาธิปไตย ทั้งในแง่นิสัยเสีย ไม่ยอมแก้ปัญหาในระบอบ ติดนิสัยใช้อำนาจแก้ปัญหา ท่องคาถา “ปราบโกง” ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ปลุกความเชื่อว่าผู้มีอำนาจมีศีลธรรม
รัฐประหารทุกครั้งยังทำลายนิติรัฐ สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อความยุติธรรม (อำนาจคือความถูกต้อง ใครมีอำนาจ คนนั้นถูก)
ข้อสาม รัฐประหารทุกครั้งทำดีด้วยเจตจำนงเหนี่ยวรั้งอำนาจ เพราะกองทัพทำดี ควรให้กองทัพมีอำนาจต่อไป ยังไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งจะวนกลับไปข้อหนึ่ง หรือต่อให้กลับสู่เลือกตั้งได้ ก็ไม่วายขัดแย้งรุนแรงในวันหน้า
ใบตองแห้ง