เผือกร้อนดีแทค-ทรู

ขั้นตอนการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ไปถึงไหนแล้ว?


ขั้นตอนการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ไปถึงไหนแล้ว?

ผมก็ว่าก้าวเดินมาเป็นลำดับอ๊ะนะ เริ่มจากบอร์ดบริหารของทั้ง 2 บริษัท ออกมติการควบรวมแบบ A+B กลายเป็น C ไม่ใช่ A ควบ B หรือ B ควบ A แต่นี่กลายสภาพเป็นบริษัทใหม่ไปเลย

โดยใช้สูตรแลกหุ้น “1 หุ้นเดิมทรูต่อ 0.60018 หุ้นบริษัทใหม่” และแลก “1 หุ้นเดิมดีแทคต่อ 6.13444 หุ้นบริษัทใหม่”

การประชุมผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท เพื่อรับรองการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ ก็ลุล่วงไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาอนุมัติ นั่นคือ กสทช. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกขค. คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ถึงจะไปสู่ขั้นตอนการซื้อหุ้นแลกหุ้น

ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโดยกสทช.และกขค. ดูจะเป็น “ด่านหิน” ที่อาจต้องใช้กำลังทั้งภายนอกภายในมากที่สุด

คงไม่ใช่ยากเพราะเส้นสายคอนเนคชั่นไม่ถึงหรอกครับ เพราะระดับนี้แล้ว…แต่ความยากคงจะอยู่ที่จะอธิบายให้สังคมสบายใจได้อย่างไรใน 2 ประเด็นสำคัญ

นั่นคือ ไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย และหลังการควบรวม ทำให้เหลือผู้เล่นน้อยรายลง จะป้องกันการ “ฮั้ว” ราคา เอาเปรียบประชาชนได้อย่างไร

ในตัวบทกฎหมายเองก็มีความสลับซับซ้อนและอาจจะย้อนแย้งกันพอสมควรนะครับ ดังเช่นข้อกฎหมายที่คณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบการควบรวมดีแทค-ทรู ที่มีไปยังนายกรัฐมนตรี ก็ได้ระบุถึงกสทช.มีอำนาจอนุมัติหรือแค่เพียงรับทราบเท่านั้น

เพราะมีการแก้ไขประกาศของกสทช.ในปี 2561 ในข้อที่ 5 ได้ลดทอนอำนาจของกสทช.จากการมีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตมาเป็นแต่เพียงการรับทราบ “รายงาน” การควบรวมกิจการ และมีอำนาจแต่เพียงการออกมาตรการกำกับดูแลผลกระทบเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงประกาศข้อ 8 ที่ระบุว่า “การเข้าถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน ด้วยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกสทช.”

ปัญหาคือการควบรวมทรู-ดีแทค เป็นการควบรวมธุรกิจในประเภทเดียวกันหรือไม่ เรื่องนี้ก็แหง ๆ อยู่แล้วว่าเป็นการควบรวมในกิจการประเภทเดียวกัน ความยากก็อยู่ที่หากจะใช้ประกาศข้อนี้ กสทช.จะอธิบายเหตุผลการยกเว้นอย่างไร

ประกาศกสทช.ข้อ 5 กับข้อ 8 ก็มีความย้อนแย้งกัน ข้อ 5 ลดอำนาจกสทช.เหลือแค่การรับรายงาน “เพื่อทราบ” เท่านั้น

แต่ประกาศข้อ 8 ระบุชัดเลยว่า การเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 จะกระทำมิได้เลย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกสทช. นั่นคือกสทช.ยังมีอำนาจอนุมัติอยู่ใช่ไหม

ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในการควบรวมทรู-ดีแทค มีผลต่อราคาหุ้นอย่างมาก จากตอนที่มีรายงานข่าวควบรวมใหม่ ราคาหุ้นทั้งทรูและดีแทคขึ้นพีคสุดในวันที่ 18 ก.พ. 65 วันเดียวกันเลยที่ 5.70 และ 51.50 บาทตามลำดับ

แต่ขณะนี้ ราคาปัจจุบันของทรูและดีแทคอ่อนตัวลงมาที่ 4.82 บาท และ 46.50 บาทตามเท่านั้น ราคาหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ก็คงจะขึ้นกับกระแสข่าวการควบรวมจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั่นแหละ

สำหรับผลกระทบของผู้บริโภค หากมีการควบรวม ก็น่าคำนึงถึงความเป็นธรรมกรณีเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเป็นอันมาก เพราะจำนวนลูกค้า AIS มี 52.7 ล้านคน ส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 TRUE อันดับ 2 จำนวน 49.7 ล้านคน และ DTAC อันดับ 3 จำนวน 29.9 ล้านคน

รวมลูกค้า TRUE-DTAC จะขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 แทน AIS ทันทีด้วยยอดกว่า 80 ล้านคน

หากควบรวมสำเร็จจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่แค่ 2 ราย กสทช.หรือกขค.ตอบให้ชื่นใจหน่อยเถอะ จะป้องกัน “ฮั้ว” เอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างไร

Back to top button