ฝรั่งซื้อ กองทุน(ยัง)สาด

จากต้นปีมาจนถึงวันที่ 29 เม.ย. 65 นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมกว่า  121,733 ล้านบาท


จากต้นปีมาจนถึงวันที่ 29 เม.ย. 65

นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 121,733 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 4 วันทำการล่าสุด หรือระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่างชาติยังซื้อสุทธิทุกวัน

แม้ว่าดัชนี SET 3 ใน 4 ของช่วงวันดังกล่าวจะปิดในแดนลบ

มาดูนักลงทุนสถาบันกันบ้าง

กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ส่วนใหญ่เป็น “กองทุน” ต่าง ๆ

นับจากต้นปี 2565 มาจนถึงล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขายสุทธิออกมาแล้ว 95,318 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ผมมักจะถามนักวิเคราะห์หลาย ๆ ท่าน ในประเด็น เช่น นักลงทุนต่างชาติยังซื้อต่ออีกหรือเปล่า และเมื่อไหร่กองทุนจะหยุดขาย

ขณะเดียวกัน ได้ (แอบ) ถามผู้จัดการกองทุนด้วยอย่างน้อย 2-3 รายด้วย

ในด้านของนักลงทุนต่างชาติ

คำตอบที่ได้รับล่าสุดของล่าสุด คือ แรงซื้อของฝรั่งน่าจะเริ่ม “เบาบาง”

และเมื่อย้อนกลับไปดูการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติช่วง 7 วันย้อนหลัง พบว่า เป็นเช่นนั้น ๆ จริง

ส่วนใหญ่จะซื้อสุทธิไม่ถึงจำนวนหลักพันล้านบาทต่อวัน

มีเพียงวันที่ 27 เม.ย.ที่ซื้อรวมกว่า 2,303 ล้านบาท

นอกเหนือจากนั้น จะเป็นหลักตั้งแต่ 200-900 ล้านบาทต่อวัน

และเมื่อไปหาข้อมูลกับนักวิเคราะห์มาเพิ่ม

หุ้นส่วนใหญ่ที่ต่างชาติซื้อยังอยู่ในกลุ่ม SET50 และโฟกัสไปยังหุ้นกลุ่มเปิดเมืองเป็นหลัก เช่น CPALL BJC CENTEL MINT ERW

ส่วนกลุ่มธนาคารที่เคยไล่ซื้อ KBANK, BBL เริ่มชะลอการซื้อ

ทว่า ต่างชาติก็ไม่ได้ปรับพอร์ตแล้วขาย (แบงก์) ออกมามากนัก

ในทางกลับกัน หากราคาหุ้นแบงก์ลงมาในระดับน่าสนใจ เช่น  KBANK ที่ระดับ 150 บาท บวก/ลบ

จะเห็นว่าราคาดีดกลับมาทุกครั้ง

ทำให้ระดับ 150 บาท น่าจะเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งของ KBANK ได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทเพราะอย่าลืมว่าทุนฝรั่งใน KBANK นั้นค่อนข้างต่ำมากจากราคาปัจจุบัน

มีคำถามต่อว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ 0.50% จะทำให้ต่างชาติขายหุ้นหรือเปล่า

นักวิเคราะห์ มองว่า 0.50% คือตัวเลขที่ถูกคาดการณ์กันไว้แล้ว

แต่ประเด็นที่ต้องติดตามคือ เฟดจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในรอบถัดไปเท่าไหร่ จะ 0.50% หรือไม่

หากใช่ คงต้องมาจับตาดูพอร์ตต่างชาติกันอีกครั้ง

เบื้องต้น กระแสเงินหรือฟันด์โฟลว์น่าจะไม่ไหลเข้ามาเพิ่ม แต่จะขายออกหรือเปล่า คงต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย

มาถึงแรงขายของกองทุนกันบ้าง

ว่ากันว่า การขายของกองทุนมาจากหลายส่วน

ส่วนแรกของกองทุนส่วนบุคคล หรือประเภทไพรเวทฟันด์ ที่สั่งให้ผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ต แล้วขายเพื่อทำกำไร

กองทุนประเภทนี้ ทาง ผู้จัดการกองทุน คงไปทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องส่งคำสั่งขายตามเจ้าของกองทุน

ส่วนกองทุนอีกประเภท คือ ผู้จัดการกองทุน เมื่อเห็นว่า กองทุนมีกำไรตามเป้าหมาย ก็จะขายออกมา แล้วมาถือเงินสดเพื่อรอเวลา หรือราคาหุ้นที่เหมาะสม แล้วกลับเข้าซื้ออีกครั้ง

และอีกกองทุนคือ กองทุนแอลทีเอฟ (LTF) ที่ครบกำหนดในปีนี้มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

กองทุนแอลทีเอฟ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหน่วยจะถือต่อ หรือขายออกมาหากเห็นว่ามีกำไรพอสมควรแล้ว

ผ่านมาถึงตอนนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า กองทุนพวกไพรเวทฟันด์จะมีการสั่งขายเพิ่มอีกมากน้อยแค่ไหน

รวมถึงกองทุนแอลทีเอฟด้วย

ส่วนกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนขายทำกำไร และถือเงินสดเพื่อรอเข้าซื้ออีกครั้งนั้น

ตรงนี้น่าสนใจกว่า เพราะระยะเวลาการถือเงินสด รวมถึงจำนวนเงินสดที่ถือจะต้องไม่เกินจำนวนเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนสินทรัพย์ (ตามเกณฑ์กำหนด) พบว่า มีหลายกองทุนที่ถือเงินสดในมือเกินเกณฑ์

หรืออาจจะเริ่มถือนานเกินไป

นักวิเคราะห์มองว่า มีความเป็นไปได้ ที่น่าจะเริ่มเห็นการซื้อกลับของกองทุนต่าง ๆ บ้าง

ต้องมาดูกันว่า ช่วงที่ต่างชาติชะลอการซื้อ และอาจเริ่มกลับมาขายบ้าง

จะเป็นจังหวะเดียวกับที่กองทุนกลับมาซื้อหรือไม่

Back to top button