AIS (อาจ) ได้ประโยชน์ ‘ฮั้ว’ ราคา! แต่ทำไมค้าน ‘TRUE ควบ DTAC’ ?

การแข่งขันทางธุรกิจยิ่งเข้มข้นเท่าไหร่ คุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคได้รับก็จะสูงขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับราคาค่างวดที่ถูกลง


ไม่ว่าจะตำราเรียนเล่มไหน ๆ บนโลกใบนี้ หรือในสังคมมนุษย์ที่ศิวิไลซ์แล้ว ก็มักจะสอนกันอยู่เสมอว่า

“การแข่งขันทางธุรกิจยิ่งเข้มข้นเท่าไหร่ คุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคได้รับก็จะสูงขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับราคาค่างวดที่ถูกลง”

การแข่งขันจะสมบูรณ์แบบได้ก็ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ นั่นคือผู้เล่นที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยศักยภาพ เงินทุน องค์ความรู้ นวัตกรรม และเรื่องของความถูกต้องชอบธรรม

ดีล “ทรูควบดีแทค” ถือเป็นประเด็นที่กำลังแบ่งแยกสังคมไทยออกเป็นหลายซีกหลายฝ่ายอีกครั้งอย่างน่าสนใจ ทั้งในวงนักธุรกิจ นักลงทุน นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป กระทั่งหน่วยงานกำกับ และสื่อมวลชน

ใครสวมหมวกใดก็รับบทบาทของตัวเองไป อย่างนักเล่นหุ้นก็อยากให้ดีลควบรวมสำเร็จ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือราคาหุ้นจะได้ขึ้น

สื่อก็มีหน้าที่นำเสนอข้อดีข้อเสีย ความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง หรือองค์ความรู้ในหลากหลายแง่มุมที่จะมีผลต่อการดำเนินชีวิต หรือพูดให้ถูกเผงกว่านั้นคือ ต้นทุนในการดำเนินชีวิตของผู้คน และการประกอบกิจการของบริษัทห้างร้านต่างๆ

“เรกกูเลเตอร์” ทางตรงสำหรับกรณีนี้อย่าง กสทช. ก็มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้ดำเนินไปตามเงื่อนไขกติกา ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด

ในทางกลับกัน การกำเนิดของประโยชน์บางครั้งไม่ต้องทำให้มีเพิ่มขึ้น แค่ช่วยรักษาไว้ไม่ให้มีเหตุต้องสูญเสียไปก็เพียงพอ

เช่นนั้นเรื่องการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เมื่อปี 61 ในลักษณะชงเองตบเอง จึงถูกล็อคเป้าเป็นจุดอ่อน พร้อมกับถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับดูแลว่ามีความโปร่งใสชอบธรรมตามครรลองหรือไม่

พฤติการณ์ของกสทช. ทำให้สังคมเกิดความฉงนสนเท่ห์ว่าการลดทอนอำนาจตัวเองลง จากที่เคยชี้เป็นชี้ตายดีลควบรวมระหว่างโอเปอเรเตอร์ได้ มาเหลือเพียงแค่การพิจารณารับทราบนั้นถือเป็นเรื่องปกติ หรือเคยมีเรกกูเลเตอร์ที่ไหนยอมมัดแขนมัดขาตัวเองเช่นนี้มาก่อนบ้าง??

มีข้อถกเถียงว่าการแก้ไขประกาศฯเกิดขึ้นก่อนจะมีการปั้นดีลตั้ง 4 ปี หนำซ้ำ “แคท เทเลคอม” กับ “ทีโอที” ก็ควบรวมสำเร็จด้วยกฎหมายฉบับนี้มาแล้ว ไฉนเมื่อทรูอยากควบกับดีแทคบ้างถึงกลายเป็นประเด็น!?

การตอบคำถามนี้คงต้องพุ่งเป้าไปที่อานุภาพแห่งการควบรวม ว่าระหว่าง “แคทฯ-ทีโอที” ที่มีผู้ใช้บริการหยิบมือ กับ “ทรู-ดีแทค” ที่มีฐานลูกค้าเป็นคนไทยกว่าครึ่งประเทศ ไม่รวมต่างชาติ ดีลไหนสามารถทำให้การแข่งขันในแวดวงสื่อสารผิดรูปผิดแบบไปจากสภาวะปกติของตลาดได้

การมี “ผู้ประกอบการ(ประดับ)” น้อยลงคงไม่ใช่ปัญหา แต่การมี “ผู้ประกอบการ(หลัก)” น้อยลงนี่ซิ ที่อาจเป็นสารตั้งต้นของปัญหาใหญ่อื่นๆซึ่งจะตามมาภายหลังได้

ยังไม่เป็นที่ประจักษ์นักว่าการควบรวมของ TRUE กับ DTAC จะทำให้ใครอื่นได้ประโยชน์ นอกเสียจากตัวเองและอาจรวมถึงผู้ถือหุ้น(รายย่อย)ของทั้งสองบริษัท…แต่อย่าลืมว่าแต่ละคนก็เป็นผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบเหมือนกัน!

ความคาดหวังว่า “บริษัทควบ” จะมีอำนาจต่อรองเหนือผู้บริโภคจนผลประกอบการดีขึ้นเป็นกอบเป็นกำ และทรัพย์สินหลังหักกลบหนี้สินที่มีจำนวนมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนมูลค่าของทั้งสองหุ้นให้ปรับเพิ่มขึ้นก่อนการควบรวมแล้วเสร็จ

มูลค่าหลังควบรวมก็จะสูงขึ้นตามลำดับ จนอาจเป็นโอกาสทองของ “เทเลนอร์” สำหรับการเอ็กซิทจากการลงทุนใน DTAC ด้วยการขายหุ้นใหม่ทิ้งบนกระดาน ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการให้ TRUE มาบีบคอขายในตอนนี้อย่างแน่นอน

ฟากของทรูเมื่อควบดีแทคแล้วบริษัทใหม่มีฐานทุนใหญ่ขึ้น ก็จะเป็นการเปิดทางให้ไปก่อหนี้ได้เพิ่มเติม จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ใช้วงเงินกับทุกแบงก์ไปจนเต็มเหยียดแล้ว

ส่วนโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีเพิ่มขึ้น นับเป็นสิ่งล้ำค่าที่จะเป็นเหตุผลให้ TRUE ไปเรียกเพิ่มทุนในกองทุน DIF เพื่อมาซื้อทรัพย์สินเพิ่มเติมได้ เพราะขายของเก่าที่เคยมีออกไปจนเหี้ยนแล้ว

การเพิ่มทุนคือการเอาเงินจากสาธารณะมาใช้ในกิจการ กรณีนี้อาจถูกผันต่อไปให้กับทรูผ่านการซื้อขายโครงข่ายฯ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการระดมทุนไปให้ TRUE เพียงแค่กระทำผ่านผู้ถือหน่วยของ DIF เท่านั้น

น่าสนใจว่าเอไอเอส หรือ ADVANC ในฐานะโอเปอเรเตอร์หลักอีกหนึ่งราย ก็จะได้ประโยชน์จากการฮั้วราคาค่าบริการโดยอัตโนมัติ หากจำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรมลดลง

แต่ทำไม? และทำไม? ถึงยืนหยัดคัดค้านการควบรวมกิจการในครั้งนี้…มันน่าคิดไหมเล่า!

Back to top button