พาราสาวะถีอรชุน

ควันออกหูอีกตามเคยจากประเด็น “ปิดประเทศ” สุดท้ายที่ระบายอารมณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หนีไม่พ้นนักข่าวที่ฟังการแถลง แต่การกล่าวหาสื่อต่อการนำเสนอข่าวปิดประเทศหนนี้ ดูท่าว่าจะแรงไปหน่อยหรือเปล่า กับคำพูดที่ว่า ขอสื่ออย่าขยายความขัดแย้ง เพราะเท่ากับเป็นการขายประเทศ ทำให้ประเทศเสียหาย


ควันออกหูอีกตามเคยจากประเด็น ปิดประเทศ” สุดท้ายที่ระบายอารมณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หนีไม่พ้นนักข่าวที่ฟังการแถลง แต่การกล่าวหาสื่อต่อการนำเสนอข่าวปิดประเทศหนนี้ ดูท่าว่าจะแรงไปหน่อยหรือเปล่า กับคำพูดที่ว่า ขอสื่ออย่าขยายความขัดแย้ง เพราะเท่ากับเป็นการขายประเทศ ทำให้ประเทศเสียหาย

ความเป็นจริงประเทศจะเสียหายหรือไม่ ไม่ใช่การนำเสนอของสื่อหากแต่ขึ้นอยู่กับนโยบายและการดำเนินงานของคณะผู้บริหารไม่ว่าจะมีที่มาแบบไหนก็ตาม เรื่องปิดประเทศอาจไม่ใช่สาระสำคัญเท่าไหร่ ท่วงทำนองของท่านผู้นำที่ตอกย้ำซ้ำเติมโดยเฉพาะปมการแสดงความเห็นของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างหากที่เป็นประเด็นน่าวิตกมากกว่า

ในฐานะที่ไปคุยกับ บัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็นเมื่อคราวไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติและการเข้าพบของ กลิน ทาวเซนต์ เดวี่ส์ ทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย บิ๊กตู่น่าจะรู้ดีกว่าใครเพื่อนเพราะรับฟังเต็มสองรูหูด้วยตัวเอง ทั้งสองคนยืนยันในเรื่องของการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็น หวังเห็นพื้นที่ประชาธิปไตยในไทยเปิดกว้างมากขึ้น

การพูดในทำนองดังกล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาตินั้นอาจถูกตีความได้ว่าเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความคิดเห็นทางวิชาการ ซึ่งทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยต่างให้ความสำคัญต่อเสรีภาพด้านนี้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเห็นของนักวิชาการหลายๆ รายสะท้อนไปถึงท่านผู้นำ

โดย ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เรียกร้องว่า ขออย่ามองทุกคนเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ เป็นไปไม่ได้ในการนำพาประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตย เช่นการถกเถียง ส่วนถ้าคสช.ต้องการพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษา จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การบอกให้เชื่อ ดังเช่นการปรับทัศนคติ

ขณะที่ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ระบุ คสช.มองอาจารย์และนักศึกษาเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมีอาจารย์และนักศึกษาหลายคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แต่ก็ไม่สามารถกำราบได้เหมือนนักการเมือง ยังคงมีการแสดงออกอยู่เสมอ ยิ่งมีการขัดขวางยิ่งทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้าน

ส่วนที่บิ๊กตู่บอกว่าจะส่งคนไปคุยกับอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์นั้น อนุสรณ์เสนอว่า ไม่ใช่จะส่งใครก็ได้มาคุย ควรต้องส่งคนที่มีอำนาจตัดสินใจเช่น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการหรือตัวท่านผู้นำเอง เพื่อที่จะได้คุยกันอย่างตรงประเด็น สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย การพูดคุยจะต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ใช่บอกให้เชื่ออย่างเดียว

ด้านเครือข่ายคณาจารย์หลายมหาวิทยาลัย นำโดย อรรถจักร สัตยานุรักษ์ และ สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งโต๊ะแถลงการณ์โต้รัฐบาลย้ำ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารจากกรณีที่บิ๊กตู่พูดว่า การจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษามีกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องประการแรกว่า เสรีภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้  การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ ความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคม

หมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง

ประการต่อมา ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง

การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้

สังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือ สังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้  มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต ทว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจและองคาพยพที่เกี่ยวข้องกำลังเดินกันอยู่จะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง 

Back to top button