ภัยเงินเฟ้อ (รุนแรง)

“วิกฤตเงินเฟ้อ” เที่ยวนี้ เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติได้เร็วก็เป็นบุญ


ตลาดการเงินโลกเงียบกริบ ต่างเฝ้ารอคำประกาศภาวะเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาเดือน เม.ย. เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 65 เวลา 19.30 น. (เวลาไทย) อันตรงกับเวลานิวยอร์กตอนเช้าที่ 08.30 น.

งานนี้มีเดิมพัน! นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาไม่กะพริบ ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งวัน ดาวโจนส์ ฟิวเจอร์ ส่งสัญญาณบวกก่อนเวลาประกาศ ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่เป็นสัญญาณลบ และตลาดยุโรปที่รับไม้ต่อจากตลาดเอเชีย เคลื่อนไหวในทิศทางบวกทุกตลาด

เกณฑ์ชี้วัดภาวะตลาด ก็อยู่ที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ประจำเดือน เม.ย. ไม่ควรจะเกินร้อยละ 8.1 ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ที่ 8.5% แต่หากเงินเฟ้อยิ่งรุนแรงหนักกว่านี้ ก็จบข่าว! ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดไทยแหลกลาญแน่ และอาจจะ “ซึมยาว” ควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก

มงคล พ่วงเภตรา นักกลยุทธ์ประจำ บล.KTBST ตั้งสมมติฐานและผลติดตามที่จะเกิดขึ้นไว้ 3 กรณีอย่างน่าสนใจ นั่นคือ…

กรณีที่ 1 เงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.1% ตามตลาดคาด ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลเชิงบวกเล็กน้อย ดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5 จุด นักลงทุนจะคลายความกังวลลงได้ระดับหนึ่ง

กรณีที่ 2 เงินเฟ้อออกมาต่ำกว่า 8.1% ซึ่งต่ำกว่าตลาดคาด ตลาดหุ้นจะรับผลเชิงบวกแรงกว่ากรณีแรก ดัชนีมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10 จุด ความเชื่อมั่นก็จะกลับมาค่อนข้างมาก และเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปไม่เกิน 0.5%

กรณีที่ 3 กรณีเลวร้ายที่อัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่า 8.1% ค่อนข้างมาก ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ที่ 8.5% ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมากกว่า 10 จุดขึ้นไป และเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% ในครั้งถัดไป

คำประกาศเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย.อย่างเป็นทางการคือ 8.3% เหนือกว่าความคาดหมายที่ 8.1% และไม่เลวร้ายไปใกล้เคียงไฮเก่าที่ 8.5% ก็จริง แต่ตลาดแสดงปฏิกิริยาเชิงลบค่อนข้างมาก

เริ่มจากตลาดหุ้นนิวยอร์กเอง ตลาดหุ้นเอเชียที่แดงเดือดไปทุกตลาด และตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดทำการตามมา

ระดับความรุนแรงก็ไม่ใช่น้อย แม้แต่หุ้นที่มีผลประกอบการดี ก็ไม่อาจช่วยเหนี่ยวรั้งความเลวร้ายของตลาดได้เลย

ภาวะเงินเฟ้อเที่ยวนี้ ไม่ธรรมดาปกติ! ไม่ใช่เงินเฟ้อจากCost Push” ที่สินค้ามีราคาแพง เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยที่อุปสงค์หรือความต้องการไม่เปลี่ยนแปลง หรือเงินเฟ้อจาก Demand Pull” ที่อุปสงค์เพิ่มมากขึ้นกว่าอุปทาน อย่างนี้ก็ต้องแก้โดยวิธีการลดหรือเพิ่มปริมาณเงินในตลาด

แต่ภาวะเงินเฟ้อตอนนี้ เป็นเงินเฟ้อที่ค่อนข้างรุนแรง มีแบบแผนเป็นStagflation” หรือเงินเฟ้อท่ามกลางเศรษฐกิจชะงักงัน ที่มีปัญหาทั้งด้านการผลิตตกต่ำ และจำนวนผู้ว่างงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ

พูดภาษาชาวบ้านเรา มันก็คือมีทั้งภาวะเงินเฟ้อที่สินค้าราคาแพง และเงินฝืดที่กำลังซื้อตกต่ำทับซ้อนกันเลย ภาวะเช่นนี้ยากแก่การแก้ไขเป็นที่สุด

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ทำให้ประชาชาติทั่วโลก เผชิญชะตากรรม “เงินเฟ้อชนิดรุนแรง” ไปพร้อม ๆ กัน อันเนื่องมาจากต้นทุนด้านพลังงานนั่นแหละ

เป็นวิกฤตที่แปลกแตกต่างจากตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดเฉพาะย่านเอเชีย โดยยุโรปและอเมริกา ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนเที่ยวนี้ ก่อเกิด “วิกฤตเงินเฟ้อ” ไปทั่วโลก ทั้งประเทศเล็กและประเทศใหญ่ ต่างก็ประสบความเดือดร้อนสาหัสโดยถ้วนหน้า

วิกฤตเงินเฟ้อ” เที่ยวนี้ เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติได้เร็วก็เป็นบุญ แต่หากยืดเยื้อนานวัน ก็จะเจ๊งกันไปทั่วโลก

การลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยง ต้องเพิ่มความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงวิธีคิดแบบ “นักพนัน” และการบริหารเศรษฐกิจ ก็ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ และแยกให้ออกระหว่างงานรูทีนกับงานนโยบาย ไม่ใช่รูทีนสะเปะสะปะไปเรื่อย

Back to top button