เมื่อ ‘เจอโรม พาวเวลล์’ สิ้นมนต์ขลัง
บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่า “เจอโรม พาวเวลล์” จะสามารถรักษาคำมั่นสัญญาได้ เพราะภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงลิ่ว บวกกับปัญหาเรื่องการจ้างงาน และการเติบโตที่ยังอ่อนแอ
เส้นทางนักลงทุน
การพลิกกลับของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เพียงแค่ข้ามคืน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จากเขียวสดใสกลายเป็นแดงทั้งกระดาน อันเป็นผลจากนักลงทุนแห่เทขาย เพราะไม่เชื่อมั่นคำสัญญาของ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ระบุว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% อาจจะไม่เป็นจริง เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศที่รุนแรงได้กลายเป็นแรงกดดันหลักต่อการตัดสินใจของ Fed ณ ขณะนี้
ในวันนั้นนับเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในรอบปีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ดิ่งลงรุนแรง 1,063.09 จุด (-3.12%) ปิดที่ 32,997.97 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 153.30 จุด (-3.56%) ปิดที่ 4,146.87 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 647.16 จุด (-4.99%) ปิดที่ 12,317.16 จุด จากก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ได้มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ซึ่งเป็นการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่ในวันทำการถัดมาตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ยังคงทรุดตัวลดลงต่อเนื่อง
“เจอโรม พาวเวลล์” ในฐานะประธาน Fed กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป คือเดือน มิถุนายน เพื่อให้ตลาดคลายความวิตกกังวล
แต่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่า “เจอโรม พาวเวลล์” จะสามารถรักษาคำมั่นสัญญาได้ เพราะภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงลิ่ว บวกกับปัญหาเรื่องการจ้างงาน และการเติบโตที่ยังอ่อนแอ ทำให้ไม่อาจวางใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.5% จะสามารถคุมเงินเฟ้อได้
มีความวิตกกังวลด้วยว่าท่ามกลางเงินเฟ้อสูง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางนี้ สหรัฐฯ อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยเฉพาะหาก Fed ไม่อาจจัดการเงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่อมเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยซ้ำซ้อนได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2524-2525
ดังนั้น Fed จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่รุนแรง แต่ต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป ไม่เช่นนั้นสถานการณ์เงินเฟ้อจะยิ่งเลวร้ายมากกว่าเดิม
จากข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 รอบ โดยที่ 8 ใน 11 รอบนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard Landing) ในเวลาต่อมา มีเพียง 3 รอบเท่านั้นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชะลอ (Soft Landing)
โดยรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ Soft Landing นั้น มีตัวแปรร่วม 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า 4%, Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือเดือนละ 0.12-0.19% และระดับที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปสูงสุด (Terminal Rate) นั้นต่ำกว่า Neutral Rate
ซึ่ง ณ จุดนี้ ปัจจัยที่ตลาดคาดการณ์ คือ Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยอาจจะขึ้นมากกว่า 3.5% ในปีหน้า หลังจากปรับขึ้น 0.5% สู่ระดับ 0.75-1.0% ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทั้งปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นสู่ระดับ 2.5-2.75%
ตลาดยังจับตามองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนหน้าอาจจะรุนแรงท่ามกลางการลดงบดุล หรือลดการซื้อทรัพย์สินทางการเงินในตลาดการเงินตั้งแต่เดือน มิถุนายน ที่ 47,500 ล้านดอลลาร์ และลดต่อเนื่องในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม อย่างน้อย 95,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งจะลดเพิ่มขึ้นมากกว่า 95,000 ล้านดอลลาร์ในเดือน กันยายน เพื่อต่อสู้และลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ดังนั้นหาก Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่า 3.5% จริง ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยรุนแรง แต่เศรษฐกิจไทยย่อมต้องได้รับผลกระทบด้วยอย่างแน่นอน ส่วนหุ้นไทยแดงทั้งกระดานติดต่อกันหลายวันทำการแล้ว ดัชนีปริ่ม 1,600 จุด หากหลุดลงไปยังไม่รู้แนวรับแข็งแกร่งจะอยู่ระดับไหน ณ ตอนนี้
มีการประเมินกันว่าท้ายที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ ที่ถ่างมากขึ้น อาจทำให้เงินทุนไหลออกตามมาด้วยเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% ในช่วงไตรมาส 3 ถึง ไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่างช้าก็ภายในต้นปีหน้า
ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน เมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 เพิ่มขึ้น 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จากที่เคยสูงในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี เนื่องจากฐานปีก่อนสูง
ส่วนเงินเฟ้อรวม 4 เดือนปีนี้ (มกราคม-เมษายน) เพิ่มขึ้น 4.71% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคา) อยู่ที่ 102.57 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือน มีนาคม และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือน เมษายนปีก่อน และรวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 1.58%
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน เมษายน ยังเป็นผลมาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลัก รวมถึงราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่สูงขึ้น และยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อรัสเซียด้วย
สำหรับเงินเฟ้อเดือน พฤษภาคม มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และการเลิกตรึงราคาดีเซลที่ปล่อยให้ขึ้นแบบขั้นบันได จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า ตลอดจนการปรับขึ้นของก๊าซหุงต้ม รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยทั้งปีนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่คาดการณ์นี้ยังไม่รวมถึงการเลิกตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท
ก็ได้แต่หวังว่า Fed จะคุมเงินเฟ้ออยู่หมัด เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นแค่ Soft Landing ไม่ใช่ Hard Recession ส่วนไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จะถึงขั้นถดถอยหรือไม่คงต้องจับตามองกันต่อไป