ประกันสังคมเปิดทาง ‘3 ขอ’ ข่าวดีหรือข่าวร้าย

การเปิดโอกาสให้สามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้และสามารถใช้กู้เงินได้ย่อมจะเกิดประโยชน์ แต่ก็ต้องไม่ลืม “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน


เส้นทางนักลงทุน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอปรับเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

หนึ่งในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ฉบับนี้ คือการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน

โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนมีโอกาสเลือกบริหารจัดการเงินที่สะสมไว้เพื่อโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น กับเกณฑ์ใหม่ “3 ขอ”  ได้แก่ 1. ขอเลือก  นั่นคือ ผู้ประกันตน มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือ เงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว จากเดิมต้องรอส่งเงินเกิน 180 เดือน หรือ อายุ 55 ปี จึงจะได้เป็นบำนาญ หากส่งเงินต่ำกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะได้เป็นบำเหน็จ

  1. ขอกู้คือการเปิดให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้
  2. ขอคืนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน

นอกจากนี้ยังได้ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ และให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้ด้วย

ซึ่งหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จะต้องรอประกาศใช้บังคับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“เงินชราภาพ” ของผู้ประกันตน มีวัตถุประสงค์ในการออมเพื่อใช้ดำรงชีพในยามเกษียณอายุ จึงมีมุมมองที่เห็นต่างต่อการตัดสินใจของกระทรวงแรงงาน ทั้งจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.), และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

โดย “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ ครม.เห็นชอบดังกล่าว แม้จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะระบบประกันสังคมทำหน้าที่ในการ “บังคับออม” เพื่อให้แรงงานมีเงินในการดำรงชีพเมื่อสูงอายุ และมีสวัสดิการระหว่างทาง

ดังนั้นหากเอาเงินออมเพื่อเกษียณอายุซึ่งเป็นเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ในระยะสั้นอาจมีประโยชน์ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยก็กำลังฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง แต่มีความเสี่ยง คือ เงินออมตอนสูงอายุจะหายไป รวมทั้งยังมีผลทางอ้อมทำให้คนปรับตัวน้อยลง ไม่ลดการบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือย

ก่อนหน้านี้ “ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์” อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า (NIDA) ก็มีมุมมองที่สอดคล้องกันว่า การนำเงินชราภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมออกมาใช้ จะกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่กองทุนประกันสังคม จะทำให้คนไทยไม่มีวินัยทางการเงิน ขณะที่ในอนาคตอีก 10 กว่าปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 20 ล้านคน ถึงเวลานั้นกองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินจ่าย

“ผศ.ดร.อานนท์” หยิบยกข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ilo ซึ่งได้ทำการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยพบว่ากองทุนประกันสังคมของไทยจะเหลือเงินเท่ากับศูนย์และติดลบภายใน 20 กว่าปี เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัยเต็มขั้น ที่เรียกว่า Super-aged Society โดยไทยจะมีคนแก่ จำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 10 กว่าปีข้างหน้า
  2. อัตราการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนของไทยอยู่ที่ประมาณ 5% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่นำมาคำนวณอยู่ที่ 15,000 บาท) โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลจ่ายในอัตราเท่า ๆ กัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศที่ส่งเงินสมทบมากที่สุดอย่างจีนนั้นสมทบถึง 20%
  3. อายุเกษียณในการรับเงินประกันสังคมที่ต่ำเกินไป โดยอายุเกษียณของไทยต่ำอยู่ที่ 55 ปี ซึ่งต่ำที่สุดในโลก ขณะที่อายุในการรับเงินเกษียณของประเทศอื่นสูงกว่านี้ เช่น สหรัฐฯ เกษียณอายุที่ 67 ปี และจะขยายอายุเกษียณออกไปเรื่อย ๆ

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมระบุว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งสิ้น 23,864,373 คน แบ่งเป็น มาตรา 33  มีจำนวน 11,190,109 คน, มาตรา 39  มีจำนวน 1,925,572 คน และมาตรา 40  มีจำนวน 10,748,692 คน

สำหรับสถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 กองทุนมีเงินลงทุนสะสมรวมทั้งสิ้น 2,213,478 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล เพื่อนำไปลงทุนสุทธิ 1,459,317 ล้านบาท กำไรจากการลงทุน 754,161 ล้านบาท มีหลักทรัพย์เสี่ยง 23% หลักทรัพย์มั่นคงสูง 77% ส่วนของเงินออมชราภาพอยู่ที่ 1,977,646 ล้านบาท ยอดเงินออมเฉลี่ยของผู้ประกันตนที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคม 153,475 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของผู้ใช้แรงงานอย่างมาก ดังนั้นในแง่ของผู้ประกันตนแล้ว การเปิดโอกาสให้สามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้และสามารถใช้กู้เงินได้ย่อมจะเกิดประโยชน์ แต่ก็ต้องไม่ลืม “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน

Back to top button