สศช. – กกร.หั่นจีดีพี ห่วงเงินเฟ้อพุ่ง 5.5%

ยังมีสัญญาณที่ดี แม้ทั้ง “สศช.” และ “กกร.” จะปรับลดกรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน


เส้นทางนักลงทุน

ภายหลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตัวเลขนี้ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ สะท้อนว่าภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวดีขึ้น

โดยในไตรมาสดังกล่าวเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจขยายตัวเกือบทุกตัว เช่น การบริโภคเอกชนขยายตัวได้ 3.9% การอุปโภคบริโภคภาครัฐขยายตัวได้ 4.6% และการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ 10.2%

อย่างไรก็ตาม สศช. ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากกรอบเดิม 3.5-4.5% มาที่ระดับ 2.5-3.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 4.2-5.2% ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยูโรโซน การค้าโลกที่ขยายตัวลดลง  ราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดยในการประชุมเฟดล่าสุดเมื่อวันที่ 4-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.50%-2.75% ณ สิ้นปี 2565 เมื่อผนวกเข้ากับจีนยังใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero Covid Policy ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนหดตัว และกดดันให้ปัญหาซัพพลายเชนยิ่งตึงตัวขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ได้มีการปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เหลือขยายตัวได้ 2.5% ถึง 4.0% จากกรอบเดิม 2.5-4.5% ไปก่อนหน้าแล้ว  แต่ยังคงคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-5% เช่นเดิม โดย กกร.แสดงความเป็นห่วงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาในกรอบ 3.5-5.5% จากเดิม 2-3%

มีสัญญาณที่ดีว่าแม้ทั้ง “สศช.” และ “กกร.” จะปรับลดกรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ทั้ง 2 หน่วยงานมองว่า เศรษฐกิจไทยยังจะเติบโตได้ ภายใต้เหตุผลความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิดแบบเป็นปกติมากขึ้น จะเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย

แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ไม่สามารถวางใจได้ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะอาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน และปัจจัยการผลิต ทั้งราคาปุ๋ยและข้าวสาลีให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปัจจุบันได้ ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ไว้ให้ได้ ทั้งจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ภายหลังไทยเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกันอย่างคึกคัก จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิดได้บ้างแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คือ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน นั่นเอง

นอกจากนี้ภาครัฐยังจำเป็นจะต้องเป็นหัวหอกสำคัญในการรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าให้เติบโตต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกไปยังตลาดหลัก และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ดั่งเช่นการนำภาคธุรกิจไปหารือด้านการค้ากับซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ก่อน

ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ตลอดจนความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญดูแลต้นทุนการผลิต สภาพคล่อง ตลอดจนจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปเพื่อช่วยประคองภาคธุรกิจ  โดยเฉพาะในธุรกิจที่ยังเปราะบาง  เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ซึ่งจะส่งผลดีเป็นลูกโซ่ในการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ต้องแบกรับการถูกผลักภาระจากต้นทุนของผู้ผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงปลายปี 2565 ตามที่มีการคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ท้าทายต่อการตัดสินใจของภาครัฐให้ต้องติดตามก็คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มว่าปรับเพิ่มขึ้นมาก และการลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แม้ภาครัฐจะขยับเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลออกไปอีก 2-3 เดือน แต่เมื่อถึงเวลาต้องปล่อยให้ลอยตัว จะเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนด้วย

ดังนั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเสี่ยงรอบด้านจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนยืดเยื้อ จึงมีทั้งโอกาสที่จีดีพีไทยจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันถึงโอกาสที่จีดีพีไทยอาจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้

รวมทั้งยังต้องลุ้นด้วยว่า ภายหลัง “สศช.” และ “กกร.” ปรับลดกรอบการเติบโตจีดีพีไทยในปีนี้ลงแล้ว “กระทรวงการคลัง – แบงก์ชาติ” จะออกมาประกาศหั่นเป้าจีดีพีลดลงอีกรอบหนึ่งหรือไม่…หลังจากที่ได้หั่นเป้าไปแล้วก่อนหน้านี้

Back to top button