พาราสาวะถี
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายคว้าเก้าอี้ผู้บริหารเมืองหลวงชนิดม้วนเดียวจบ ด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 คะแนน สร้างสถิติใหม่
เป็นชัยชนะอันหมดจดงดงาม ไม่ทำให้บรรดาสำนักโพลทั้งหลายหน้าแหกเหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายคว้าเก้าอี้ผู้บริหารเมืองหลวงชนิดม้วนเดียวจบ ด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 คะแนน สร้างสถิติใหม่ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 และเป็นคนที่ 10 จากการเลือกตั้ง ขณะที่คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิแม้จะคึกคักแต่เป็นจำนวนแค่ 60.73 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าเมื่อปี 2556 ที่มีผู้ออกมากาบัตร 63.98 เปอร์เซ็นต์
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นสะท้อนถึงอะไร เป็นการลงโทษผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่ความจริงได้ส่งสัญญาณผ่านการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ที่หลักสี่มาหนหนึ่งแล้ว ก่อนจะมาตอกย้ำอีกคำรบในรอบนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสั่งสอนพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในฐานะหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ การตัดสินใจทางการเมืองของคนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ของตายที่เลือกใครแล้วจะเลือกอีก
ผลการเลือกตั้งส.ก.ที่ออกมาเป็นตัวชี้วัดชัดเจน เพื่อไทยได้เก้าอี้มากสุด 19 ที่นั่ง ตามมาด้วย ก้าวไกล 14 คน ประชาธิปัตย์ 9 คน ไทยสร้างไทย 2 คน พลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน ทั้งที่การเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมาพรรคสืบทอดอำนาจได้เก้าอี้ในพื้นที่กทม.มากที่สุด นี่ย่อมเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้เป็นอย่างดี ว่าสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจป่าวประกาศรัฐบาลมีผลงาน และบรรดากระบอกเสียงรัฐบาล รวมทั้งคนในพรรคแกนนำโพนทะนานั้นจริงหรือไม่
การเลือกเอาวันที่ 22 พฤษภาคมอันเป็นวันครบรอบ 8 ปีการก่อรัฐประหารของเผด็จการคสช. เป็นวันเลือกตั้งนั้น เจตนาของฝ่ายกุมอำนาจชัดเจนแม้จะอ้างว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. แต่ใครเป็นคนสั่งก็รู้กันดีอยู่ จุดมุ่งหมายที่เลือกวันนี้เพื่อจะเป็นการวัดความนิยมจากคนกรุงเทพฯ ที่เคยร่วมเป่านกหวีด โบกมือดักกวักมือเรียกให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมาทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ายังเชื่อมั่นและไว้วางใจกันอยู่หรือไม่
จะเห็นได้ว่าในวันไปเป็นประธานเปิดงานตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อุ๊บ! งานถามมา ตอบไปเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพยายามเรียกร้องความเห็นใจอ้างถึงเหตุความจำเป็นที่จะต้องทำการรัฐประหาร โดยมีเป้าหมายหวังสื่อไปถึงคนกรุงเทพฯ ให้มีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วย สุดท้ายก็อย่างที่เห็น คนเบื่อแล้วกับวาทกรรมลวงโลก แม้กระทั่งสิ่งที่อ้างมากว่า 8 ปีคืนความสุขให้คนไทย วันนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริงอย่างที่อ้าง
ความจริงอีกประการที่ทำให้ฝ่ายหนุนหลังเผด็จการหรือพวกเผด็จการสืบทอดอำนาจถือหางพ่ายแพ้อย่างราบคาบหมดรูปนั้นก็คือ การแสดงตัวสนับสนุนของอดีตแกนนำม็อบนกหวีดต่อผู้สมัครอิสระที่ไม่อิสระแต่ละราย รวมไปถึงการชูยุทธวิธีไม่เลือกเราเขามาแน่ ถึงขนาดที่ผู้สมัครบางคนกล้าประกาศแบบโต้ง ๆ ไม่เลือกตัวเองชัชชาติมาแน่ แทนที่จะเรียกคะแนนนิยม กลับกลายเป็นว่าคนกรุงเทพฯ กลัวชัชชาติจะแพ้จึงพากันไปกาบัตรเลือกจนคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งกระจุยกระจาย
ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ไม่ออกไปใช้สิทธิ จำนวนไม่น้อยก็ถูกมองว่าเป็นพวกที่สนับสนุนม็อบนกหวีดแล้วยังทำใจไม่ได้ เมื่อไม่มีตัวเลือกที่ดีที่จะมาเบียดชัชชาติได้ จึงยอมที่จะอยู่เฉย ๆ ดีกว่า ส่วนอีกด้านพวกตาสว่างก็ได้เห็นแล้วว่าคนในซีกของขบวนการสืบทอดอำนาจนั้น แท้จริงแล้วมีพฤติกรรมอย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวของกับสถาบัน กลายเป็นพวกโหนเจ้าหรือนำเอาสิ่งที่ไม่บังควรมาเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคนอื่น และหวังจะทำให้ตัวเองได้รับคะแนนนิยม
สิ่งที่เคยกล่าวหาฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะคนเสื้อแดง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือขบวนการคนรุ่นใหม่ ถูกนำมาใช้เพื่อจะลดทอนความน่าเชื่อถือหรือหนักข้อถึงขั้นทำลายชัชชาติ แต่อย่างที่บอก เมื่อย้อนไปดูประวัติว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.รายนี้แล้ว เรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่สามารถทำอะไรได้ นั่นเป็นเพราะการมีครอบครัวที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างยาวนาน ขณะที่การชูยุทธศาสตร์หาเสียงของเจ้าตัวนั้นยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพวกรอยัลลิสต์ทั้งหลายซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง
ยุทธศาสตร์ “นพรัตน์ราชธานี” 9 ดี 9 ด้าน พร้อมนโยบายกว่า 200 นโยบาย เพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ เป็น “อุดมนิเวศมหาสถาน” คือการเข้าใจเข้าถึงสมญานามของกรุงเทพฯ ที่บรรพชนได้กำหนดไว้เมื่อครั้งสร้างกรุง ทำให้โดนใจพวกที่ยังมีข้อกังขาต่อประเด็นที่เจ้าตัวถูกโจมตี จึงกลายเป็นอีกกลุ่มคะแนนเสียงใหญ่ที่เทให้ชัชชาติ ที่น่าสนใจคงเป็นข้อมูลคะแนนหน่วยเลือกตั้งในค่ายทหารที่พบว่าไม่ได้มีการเลือกไปในแนวทางเดียวกันตามสั่งเหมือนที่ผ่านมา ย่อมสะท้อนว่าทหารอาชีพรู้ดีปัญหาของบ้านเมืองเวลานี้คืออะไร
อย่างไรก็ตาม การสร้างประวัติศาสตร์จากคะแนนเสียงที่คนกรุงเทพฯ มอบให้มหาศาลในหนนี้ ชัชชาติไม่ได้มองว่าเป็นชัยชนะ หากแต่เป็นภาระที่เกิดจาก “คำสั่งของประชาชน” เพื่อให้ตัวเองเข้าไปทำงานให้ได้ตามที่สัญญาไว้ ตามที่เจ้าตัวประกาศหลังทราบผลเป็นที่แน่ชัดว่า จะร่วมมือกับส.ก.และทุกฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนากรุงเทพฯ สนองความปรารถนาของชาวกรุงเทพฯ ให้สำเร็จลุล่วงโดยไว ที่ต้องตามต่อไปก็คือคณะผู้บริหารฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาเป็นทีมบริหารหน้าตาจะเป็นอย่างไร
เชื่อได้เลยว่าคนที่ประกาศมาจะได้รับความไว้วางใจจากสังคมไม่ต่างจากตัวผู้ว่าฯ กทม. และคงไม่มีภาพเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใดเป็นหลัก ซึ่งชัชชาติได้ย้ำหนักแน่นว่าเตรียมคณะผู้บริหารไว้เรียบร้อยพร้อมหมดแล้ว รอแค่กกต.ประกาศผลเป็นทางการจะดำเนินการได้ทันที ที่ต้องขีดเส้นใต้คือขอให้ผู้บริหารทุกเขตของกรุงเทพฯ ช่วยศึกษานโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนจากที่ถูกรัฐราชการของเผด็จการสืบทอดอำนาจครอบงำมาหลายปี
ท้ายที่สุด แรงกระเพื่อมจากผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ย่อมส่งไปถึงการเมืองระดับชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. และองคาพยพขบวนการสืบทอดอำนาจ จากที่คิดว่ากลไกและความได้เปรียบจากการอยู่ในอำนาจจะสามารถกุมความได้เปรียบในการเลือกตั้ง คงต้องคิดใหม่และคิดหนักกว่าเดิม ยิ่งคุณภาพชีวิต ปากท้องของประชาชนยังแก้ไม่ได้ ที่เห็นชัชชาติได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ อาจเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งส.ส.อีกคำรบ เมื่อถึงเวลานั้น 250 เสียงส.ว.ลากตั้งก็ไร้ความหมาย