ชัยชนะของคนแพ้
ชัยชนะแบบถล่มทลายของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่ ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับคะแนนเสียงของคนที่ลงบัตรเลือกตั้ง
ชัยชนะแบบถล่มทลายของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่ ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับคะแนนเสียงของคนที่ลงบัตรเลือกตั้ง
ในบางแง่มุม พวกสลิ่มและเสื้อเหลืองคงช้ำใจสุด ๆ ว่าทำไมกระแสคลั่งชัชชาติจึงรุนแรงอย่างนี้ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงของคนกรุงเทพฯ ที่ว่า เสียงของคนที่กาบัตรลงคะแนนนั้นไม่ใช่เสียงอิสระชนที่แท้จริง แต่เป็น “เสียงที่หลงทาง”……ซึ่งถ้าหากเป็นเสียงที่กลางทาง คนกทม.ก็คงหลงทางเลือกพลตรีจำลอง ศรีเมือง พรรคปชป. และคุณสมัคร สุนทรเวช แล้วก็ใครต่อใครมานานแล้วล่ะ
ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกันคือ อารมณ์ของคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากทม.นั้นมีแนวโน้มเอนเอียงทางใดทางหนึ่งแบบถล่มทลายเสมอ ไม่มีแทงกั๊ก แบบเลือกคนนี้นิดหนึ่ง แล้วเลือกคนโน้นอีกหน่อย ……ที่สำคัญสุดคือคนที่เลือกผู้ว่า กทม.นั้น อาจจะแยกออกจากเรื่องการเมืองอื่น ๆ ได้ เพราะว่าคนที่จะเป็นผู้ว่ากทม.นั้น จะต้องไปทำงานบริหารเมืองที่ใหญ่มีประชากรที่ซับซ้อนกว่าเมืองในประเทศไทยอื่น ๆ ด้วย
กทม.นั้นเป็นเมืองที่มีลักษณะเมืองโตเดี่ยว และเป็นเมืองที่มีประชากรเชื้อชาติต่าง ๆ ซับซ้อนแบบเมืองที่เรียกว่าเมืองสากล หรือ คอสโมโพลิแทน หรือเมโทรโพลิแทน ที่แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ในประเทศ
ที่สำคัญเมืองกทม. ยังเป็นเมืองที่มีภูมิศาสตร์การเมืองแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ แถมยังเป็นเมืองที่มีภาษีรายได้มากที่สุดในประเทศอีกด้วย งบประมาณของ กทม. ปีละกว่า 35,000 ล้านบาท จึงเป็นความพิเศษของเมืองใหญ่ระดับมหานครอย่างเมือง เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่งของจีน หรือนิวยอร์ก ชิคาโก ไมอามี่ และซาน ฟรานซิสโกของอเมริกา เตหะรานของอิหร่าน ปารีสของฝรั่งเศส ลอนดอนของอังกฤษ ริโอของบราซิล มุมไบและโกลกัตตาของอินเดีย ลากอสของไนจีเรีย และเม็กซิโกซิตี้ ของเม็กซิโก
การบริหารจัดการเมืองที่ซับซ้อนอย่าง กทม.นั้นเรียกร้องต้องการบุคลากรและอุดมการณ์ที่เรียกกันว่า อุดมคตินิยมและปฏิบัตินิยมของพรรคการเมืองแบบเปิดที่แตกต่างจากการเมืองปกติ
เช่นมีคนบอกว่า การเมืองระบบรัฐของไทยนั้น มีลักษณะพิเศษตรงที่ว่า นักการเมืองจากบ้านนอกตั้งรัฐบาล ที่คนกทม.รอโค่นล้มอยู่ …ซึ่งการเมองแบบนี้เรียกขานกันว่า “สองนครา ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ”
พรรคการเมืองทุกพรรค ที่ต้องการเข้ามีอำนาจเหนือเมืองอย่างกทม.จะต้องประกาศเจตจำนงทางอุดมการณ์ของพรรคเพื่อความชัดเจนในอนาคตว่าจะชี้นำคนกทม.ไปสู่จุดไหน
เพียงแต่ความพิเศษของนักการเมืองทั้งที่สังกัดพรรคและอิสระ (จริงหรือไม่จริงก็รู้กันอยู่) ที่ไม่ยอมประกาศอุดมคติหรือเป้าหมายของตนเองหรือของพรรค จะต้องเน้นมากกว่าตรงที่ต้องสร้างปีผลงานเน้นทางด้านปฏิบัตินิยมทำนองเดียวกับการเมืองแบบมาเคียเวลลี นั่นคือรักษาอำนาจ และแสวงหาทางมีส่วนร่วมในอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะหน้า อันเป็นแนวทางปฏิบัตินิยมหรือ pragmatism
ปมปัญหาคือผู้ว่า กทม. ที่ต้องการมีอนาคตในเชิงอุดมคตินิยม จะต้องเผชิญกับคำถามใหญ่สุดตามมานั่นคืออุดมคตินั้นขัดแย้งต่อการเข้าถึงประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งเฉพาะหน้าได้อย่างไร โดยไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์สูงสุดของพรรคหรือของคนเอง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของผู้ว่ากทม.ยุค ดร.พิจิตต รัตตกุล ซึ่งชมชอบกับการนำสื่อออกทีวีเพื่อดูการปฏิบัติการล้วงท่อในกทม. ก็ถูกนายสมัคร สุนทรเวช ปฏิเสธที่จะรับช่วงต่อเพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่า กทม. ที่ควรจะเป็น
หรือนายสมัครที่ประกาศนโยบายและมาตรการที่ทันสมัยมาก ๆ แบบนิวยอร์กคือทำเส้นกั้นฟุตบาท ให้แก่หาบเร่แผงลอยทั่วกทม. แต่ผู้ว่าอย่างอดีตนายตำรวจใหญ่อย่างอัศวิน ขวัญเมืองยกเลิกมาตรการนี้เพราะถือว่าไม่มีระเบียบ และรกรุงรัง
ข้อเสนอเรื่องการพิจารณาหาอุดมคติที่เหมาะสมระยะยาว เทียบกับเป้าหมายระยะเฉพาะหน้าจึงกลายเป็นโจทย์ที่บางครั้งย้อนแย้งกันเอง
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือกทม.เป็นเมืองเดียวในประเทศที่มีสิทธิบริหารจัดการกิจการขนส่งมวลชนที่ได้ให้สัมปทานและมอบอำนาจให้เอกชนบริหารกันเองด้วยมูลค่าปีละนับหมื่นล้านบาท
ชัยชนะของคุณชัชชาติ อดีตรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ “นารีขี่ม้าขาว” มาก่อน จึงมีความหมายพิเศษว่าระหว่างนักการเมืองที่เป็นนักฉวยโอกาสและช่ำชองการการเมืองแบบมาเคียเวลลี กับ นักการเมืองของคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า และเน้นเรื่องเสรีนิยม ที่สรรค์สร้างแนวทางจินตนาการถึงระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในอุดมคติที่แก้ไขใหม่หมด และต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ประชาชนมี จะดำรงอยู่เช่นใด
ผลงานของคุณชัชชาติหลังจากเข้ารับงานไปแล้ว จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แมวสีแดงที่สามารถจับหนูได้ กับแมวสีสลิ่มที่ถนัดกับการจับเสือมือเปล่า ใครจะได้ครองใจชาวกทม.ต่อไปในอนาคต
ตอนนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ชาวกทม.หลงทางหรือไม่