พาราสาวะถี
อาฟเตอร์ช็อกจากคะแนนอันถล่มทลายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงมีต่อเนื่อง เรื่องที่มีผลต่อพรรคการเมืองโดยตรงนั้น ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเศรษฐกิจไทย
อาฟเตอร์ช็อกจากคะแนนอันถล่มทลายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงมีต่อเนื่อง เรื่องที่มีผลต่อพรรคการเมืองโดยตรงนั้น ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเศรษฐกิจไทยจนเป็นผลให้มือขวาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. “บิ๊กน้อย” พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต้องกระเด็นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่ผลโดยตรงเพราะปมความไม่ลงรอยกันนั้นเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง จุดสำคัญอยู่ตรงท่าทีต่อการสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ
เมื่อฝ่าย ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มองการเมืองไปข้างหน้าเห็นได้ว่าการดันทุรังกระเตงกันต่อไปนั้น จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม ยิ่งภาพของผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และส.ก.ออกมาชัด แม้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะปลอบใจตัวเองว่าเป็นเพียงแค่ผลของการเลือกตั้งจังหวัดเดียว แต่กลับเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นภาพความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน ต้องการใคร ไม่เอาใคร ขนาดคนกรุงเทพฯ ที่ว่าเดาใจยากยังแสดงออกเช่นนี้ แล้วคนต่างจังหวัดที่มีต้นทุนความไม่ชอบเดิมอยู่แล้วยิ่งตัดใจง่าย
ส่วนใครที่มองว่าหลังความขัดแย้งภายในพรรคเศรษฐกิจไทย จะทำให้บรรดาส.ส.ที่ถูกขับออกมาหันกลับไปซบพรรคเดิมนั้นมีโอกาสน้อยมาก ในเมื่อนักเลือกตั้งเป็นพวกจมูกไว ย่อมรู้ดีว่าอยู่ตรงไหนแล้วจะมีโอกาสได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกหน ย่อมปักหลักในที่ที่มีอนาคตมากกว่า และยิ่งเห็นได้ว่า 15 กรรมการบริหารพรรคจาก 22 คนที่ไขก๊อกเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคแห่งนี้เป็นซีกของธรรมนัส ย่อมอ่านกันได้ไม่ยากว่า ทิศทางการเดินหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่พยายามจะแสดงออกว่ายังรักน้องเล็กเหมือนเดิมนั้น ท้ายที่สุดเมื่อยังต้องเดินบนถนนการเมืองต่อไป จำต้องตัดใจปักหลักกำหนดทิศทางต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ชัด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นพวกตกขบวน เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ต่างมองเห็นกันแล้วว่าช่วงเวลาที่เหลือนับจากนี้จะต้องวางบทบาท และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนทางการเมืองกันแบบไหน การหยอดคำหวานไม่ทิ้งกันกลางคันถือเป็นมารยาทที่จะต้องทำ ซึ่งยังจำเป็นที่จะต้องอยู่กันไปอย่างนี้จนกว่าการเตรียมความพร้อมทางการเมืองของแต่ละพรรคจะลงตัว
พรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่เนื้อหอมสุด ๆ นั้น ไม่ได้นิ่งเฉยทางการเมือง เพราะที่ปรึกษาคนสำคัญย่อมอ่านเกมออกว่าหนทางข้างหน้านั้นจะเดินกันแบบไหน หลังจากที่สะสมกระสุนแบบเต็มพิกัดแล้ว วาทกรรมที่เคยพูดในอดีต “มันจบแล้วนาย” ก็จะหวนกลับมาอีกครั้ง นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราจะได้ยินได้เห็นกันในห้วงเวลาอันใกล้จะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ชูธงเรื่องความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ
เหมือนกรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่อนุทินนำทีม 7 รัฐมนตรีของพรรคไม่ร่วมประชุมไปครั้งกระโน้น ก็เป็นการส่งซิกของการเอาตัวรอดให้เห็น อย่าลืมเป็นอันขาดว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้เป็นเรื่องที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สิ่งสำคัญหลังมีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่ถือเป็นต้นทางในการจะตัดสินใจในเรื่องนี้ ยิ่งทำให้มองเห็นขวากหนามที่จะคอยทิ่มแทงรัฐบาลหากครม.ยังจะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป
เพิ่งบอกไปวันวาน ถ้าย้อนกลับไปดูนโยบายหรือสิ่งที่ชัชชาติอภิปรายผ่านเวทีต่าง ๆ ต่อปัญหานี้ จะมีคำตอบที่ชัดเจน ล่าสุดเจ้าตัวก็ย้ำอย่างหนักแน่นแต่ทำเอาคนที่พยายามจะดันเรื่องนี้จุกจนพูดไม่ออก โดยบอกว่าทุกอย่างต้องไม่ใช้อารมณ์ และต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องต่อสัญญาสัมปทานไปอีก 30 ปี โดยไม่ผ่านพระราชบัญญัติหรือพ.ร.บร่วมทุนฯ ทั้งนี้ตนไม่ได้มีอคติว่าใครผิดหรือว่าใครถูกในเรื่องการแข่งขันราคา เพราะเชื่อมั่นในระบบ หากไม่ผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หมายความว่าไม่เชื่อในระบบ
ไม่เพียงเท่านั้น ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ยังชี้ต่อไปว่า ที่รัฐบาลโอนค่าก่อสร้างมาให้ 6 หมื่นล้าน ต้องดูว่าผ่านขั้นตอนมาถูกต้องหรือไม่ และสภากทม.รับหรือยัง ถ้าทุกอย่างถูกต้องก็ไม่ว่าอะไร หรือสัญญาการเดินรถที่ผ่านมาเลี่ยงพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ เพราะกทม.ไม่ได้เป็นผู้เริ่มทำ โดยจะทำหนังสือชี้แจงไปที่ครม.ว่ามีความเห็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม กทม.เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการตัดสินใจ จึงต้องดูทุกอย่างให้รอบคอบ
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ทำการบ้านเรื่องนี้มาอย่างดีคือ การจี้ไปยังจุดที่เป็นปัญหา คือในที่ประชุมครม.เองยังเห็นแย้งกัน ดังนั้นสำหรับตนยืนยันว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ โดยการยึด 3 หลักคือ หนี้ การเดินรถ และการต่อสัญญาไปอีก 30 ปี โดยไม่ผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ การตั้งการ์ดรัดกุมแบบนี้ อีกด้านก็เท่ากับเป็นการประจานว่าปัญหาที่คาราซังกันจนถึงวันนี้ หรือเป็นเพราะมีการทุจริต และไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
จะว่าไปแล้วตรรกะเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หากไม่รีบร้อน มีพิรุธหรือเหลิงในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ต้องตั้งสติก่อนว่าเวลาที่เหลือของสัมปทานฉบับเก่าก่อนที่จะต่ออายุสัมปทานให้นั้น มันนานเกินไปจนสังคมอดที่จะเคลือบแคลงไม่ได้ใช่หรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริง เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง ทรัพย์สินทั้งหมดเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายนี้ต้องตกเป็นของกทม. ซึ่งกทม.อาจทำเองหรือให้สัมปทานใหม่ หรือพิจารณาต่อสัมปทานให้รายเดิมก็ได้
การปักหลักตอบคำถามกรณีนี้ของชัชชาติทั้งที่ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง ก็เพื่อที่จะเป็นการบอกกล่าวกับสังคมว่า กรณีนี้หากทุกอย่างเป็นเรื่องที่ยึดตามตัวบทกฎหมายก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะยกให้ใครได้ตามอำเภอใจเหมือนที่คิดและทำกัน ปรากฏการณ์แรงกระเพื่อมของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เพียงแค่ผลคะแนนที่ส่งสัญญาณไปถึงการเมืองภาพใหญ่ แต่ปัญหาใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นภายในกทม.อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากผู้แทนประชาชน กำลังจะถูกตรวจสอบ เปิดโปง ไม่แน่ว่าบางอย่างอาจนำไปสู่การเช็กบิลบางคน บางพวกก็เป็นได้