ใครจะใส่เงินฟื้นฟู ‘สินมั่นคง’

พิษวิกฤตโควิดนับเป็นระเบิดลูกใหญ่ทำให้บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์แบบ “เจอ จ่าย จบ” ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท


เส้นทางนักลงทุน

พิษวิกฤตโควิดนับเป็นระเบิดลูกใหญ่ทำให้บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์แบบ “เจอ จ่าย จบ” ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท คือ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะวัน ประกันภัยจำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัยจำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม ศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว มีกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 15 สิงหาคม

ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 2 ปี ส่งผลให้ SMK มีภาระจ่ายเคลมประกันโควิดรวมทั้งสิ้นกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการจ่ายสินไหมไปแล้ว 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่าย แต่ยังมียอดคงค้างที่มีผู้ยื่นเคลมประกันอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้ SMK มีปัญหาขาดสภาพคล่อง จนไม่มีความสามารถชำระหนี้เคลมให้กับผู้เอาประกันได้ จึงต้องยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ

SMK เป็นบริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งและให้บริการมายาวนาน 71 ปี โดยดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัยเป็นหลัก รับประกันวินาศภัย 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด

SMK เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2494 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาท ภายใต้ชื่อบริษัท บ้วนฮงเซ้งประกันภัย จำกัด และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สินมั่นคงประกันภัย” โดยได้เพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 200 ล้านบาท

มีศูนย์บริการ 4 แห่ง สาขาหลัก 63 แห่ง และสาขาย่อยอีก 102 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันรถยนต์เป็นหลัก และเป็นบริษัทแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2534 ปัจจุบันจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของบริษัทที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด

SMK มีกลุ่มตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 52.85% ประกอบด้วย บริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด, เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์, ศิวะพร ดุษฎีสุรพจน์, เรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ และ วิจิตร ดุษฎีสุรพจน์  โดยมี “เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นมา

“เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” เป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถและประสบการณ์จากหลายองค์กร เคยเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) และยังเคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือนก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง

SMK มีผู้ถือหุ้นต่างชาติคือ MINDO ASIA INVESTMENTS LIMITED และ EUROCLEAR NOMINEES LIMITED แต่ไม่ได้เข้ามาบริหารธุรกิจ ซื้อเก็บไว้เพื่อเป็นการลงทุน เพราะในอดีตสินมั่นคงค่อนข้างจ่ายปันผลสูง นับเป็นหุ้นพื้นฐานดี

ทั้งนี้การที่ศาลล้มละลายฯ มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว  จะมีผลให้ SMK ได้รับความคุ้มครองหยุดพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติทันที (Automatic Stay) จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ผู้เอาประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” มีการรวมตัวกันในเพจต่าง ๆ เช่น เพจรวมตัวฟ้องสินมั่นคงหากยกเลิกประกันโควิด และเพจเคลมประกันโควิค (สินมั่นคงประกันภัย)  โดยได้มีการเชิญชวนให้รวมตัวกันยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ เพราะเกรงว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้ผู้ประกันโควิด จะไม่ได้รับเงินค่าสินไหม หรืออาจจะทำให้จะต้องใช้เวลา 3 ปี 5 ปี กว่าจะได้รับการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันในฐานะ “เจ้าหนี้” มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

สำหรับแนวทางฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นก็คือ 1. การหาแหล่งเงินทุนใหม่และปรับโครงสร้างทุน โดยเฉพาะการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินจากผู้ร่วมทุนใหม่นำมาใช้ในการชำระหนี้  และ/หรือเพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2. การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน 3. การศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยมี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้เป็นผู้จัดทำแผน

ปัจจุบันหุ้น SMK ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขึ้นเครื่องหมาย C ต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance คือ สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นไป เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้นงบการเงินไตรมาส 1/2565 ต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน

ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อไปก็คือ มูลหนี้ค่าเคลมสินไหม “เจอ จ่าย จบ” ที่สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท แม้จะมีส่วนลดหรือแฮร์คัต (hair cut) 50% ก็ยังต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก รวมทั้งยังจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจอีก แล้วใครจะเป็น “ผู้สนใจ” ใส่เงินเพิ่มทุนครั้งนี้ และระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการจะยาวนานเพียงใด เพราะนอกจากเจ้าหนี้ผู้เคลมประกัน “เจอ จ่าย จบ” แล้ว SMK ยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 1,859 ราย คิดเป็นสัดส่วน 15.91% ที่รอคอยคำตอบอีกด้วย

Back to top button