ไตรมาส 2 ฟ้าหลังฝนกลุ่มโรงแรม
ในด้านของธุรกิจอาหาร แต่ละโรงแรมก็มีการเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นไปตามการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมภายหลังการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว
เส้นทางนักลงทุน
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน หรือ ศบค.ชุดใหญ่ได้มีมติปรับลดพื้นที่สีหรือแบ่งโซนในการควบคุมโรคโควิด เหลือเพียงสีเขียว สีฟ้า และ สีเหลือง และผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิง ผับ-บาร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข
การผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิง ผับ-บาร์จะมีผลให้กิจการและกิจกรรมทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าอย่างครบถ้วน และไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหลังต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดมายาวนานกว่า 2 ปี
นอกจากนี้ ศบค.ยังเห็นชอบการปรับมาตรการ Thailand Pass โดยให้คงลงทะเบียนเฉพาะผู้เดินทางต่างชาติเท่านั้น ในส่วนของคนไทยไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้น เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เช่นกัน
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขรายได้ท่องเที่ยวไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน นับเป็นผลดีจากการเปิดประเทศ รวมทั้งยังมีสัญญาณว่าการประกาศให้โควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” จะเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดเดิม คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565
การเปิดประเทศของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก จากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยวและสันทนาการที่คาดว่าธุรกิจน่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แม้ว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมาผลประกอบการในภาคธุรกิจดังกล่าวจะยังคงขาดทุนอยู่ก็ตาม
โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทย กลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยวและสันทนาการ จำนวน 13 แห่ง (ไม่รวม บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT) มีผลการดำเนินงานขาดทุนไตรมาสแรกรวมกันทั้งสิ้น 1,390.29 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนราว 2,000 ล้านบาท เพราะช่วงนั้นสถานการแพร่ระบาดโควิดรุนแรง และยังไม่มีการเปิดประเทศ ส่วน RevPar หรือรายได้เฉลี่ยของห้องพักที่เปิดขายทั้งหมดในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1,521 บาทต่อห้อง
โรงแรมที่เคยขาดทุนอย่างหนัก เช่น บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ในไตรมาส 1/2565 ตัวเลขขาดทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยขาดทุนเพียง 43.69 ล้านบาท จากขาดทุน 475.73 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน ดีขึ้น 90.80% มีรายได้รวม 3,882 ล้านบาท เติบโต 40% จาก 2,774 ล้านบาท รายได้นี้มาจากธุรกิจโรงแรมสัดส่วน 32%
CENTEL มีโรงแรมภายใต้การบริหารรวมทั้งสิ้น 89 แห่ง จำนวน 18,751 ห้อง เปิดให้บริการแล้ว 47 แห่ง และกำลังพัฒนาอีก 42 แห่ง จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดังกล่าว จึงประมาณการอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 40-50% และมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย 1,700-1,900 บาท ตัวเลขนี้จะเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนให้พลิกกลับมามีกำไรอีกครั้ง
ส่วน บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ในไตรมาส 1/2565 ขาดทุนสุทธิ 313.10 ล้านบาท ดีขึ้น 34.58% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 491.94 ล้านบาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในประเทศไทย อยู่ที่ 46% เพิ่มขึ้น 16% จากงวดปีก่อนและเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้น 100%
กลุ่มโรงแรมระดับ 5 ดาวจนถึงชั้นประหยัด ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวไทยจำนวน 28.78 ล้านคน/ครั้ง รวมถึงการฟื้นตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ
ส่งผลให้อัตราการเข้าพักขยับมาที่ 31% เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปีก่อน ขณะที่อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 45% ดันให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเติบโตสูงถึง 160% โดยโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อห้อง เพิ่มขึ้นสูงที่สุด รองลงมาคือพื้นที่ภูเก็ต และพัทยา
ด้าน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT หากไม่รวมรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำแล้ว พบว่ามีรายได้จากการประกอบธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 6.1% จากไตรมาส 1 ปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการทยอยฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและการศึกษา โดยรายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 45.1% มาอยู่ที่ 634 ล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพักและค่าห้องเฉลี่ย ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องโดยรวมเพิ่มขึ้น 73.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT แม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แต่มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ สูงถึง 66% ในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 20,727 ล้านบาท เติบโตขึ้น 64% แต่ยังมีผลขาดทุนสุทธิ 3,794 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนลดลง 48% จากขาดทุน 7,250 ล้านบาท
MINT มีโรงแรมที่ลงทุนเอง 369 แห่ง โรงแรมที่รับจ้างบริหาร 158 แห่ง ใน 56 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 75,805 ห้อง ภายใต้ 8 แบรนด์ ในไตรมาสนี้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยสูงขึ้นมาที่ 4,290 บาทต่อคืน ขณะที่ปีก่อนอยู่ที่ 3,693 บาทต่อคืน มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องอยู่ที่ 1,844 บาท จาก 774 บาท อัตราการเข้าพักสูงถึง 43% จาก 21%
โดยจะเห็นว่าภาพรวมของธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่เป็นการฟื้นตัวขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป จึงถือว่าธุรกิจโรงแรมกลับมาดีในทิศทางที่สอดคล้อง ภายหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จึงมีภูมิคุ้มกันการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีขึ้น ช่วยให้มีความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นนั่นเอง
ในด้านของธุรกิจอาหาร แต่ละโรงแรมก็มีการเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นไปตามการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมภายหลังการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดังกล่าว แม้อัตราเงินเฟ้อจะส่งผลต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายกลุ่มโรงแรม แต่ต้นทุนดังกล่าวจะถูกส่งไปยังผู้บริโภคเป็นหลัก รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การเพิ่มสต๊อกสินค้าจะช่วยลดผลกระทบต่อปัจจัยนี้ลงไปได้บางส่วน
ดังนั้นท่ามกลางแนวโน้มพฤติกรรมของนักเดินทางที่ให้ความสำคัญกับนโยบายของโรงแรมว่า มีความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด มาตรการด้านความสะอาด รวมถึงมาตรการการเดินทางเข้าประเทศอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน หากประเด็นเหล่านี้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ ย่อมจะส่งผลดีสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงแรมให้ดีดตัวกลับอย่างมีนัยสําคัญได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ อย่างแน่นอน