Pet Humanization เมื่อสัตว์เลี้ยงคือครอบครัว
ปรากฏการณ์ Pet Humanization นั่นคือพฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงตัวเองเสมือนลูกหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว
จากตัวเลขการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ( ปี2560-2564) มีมูลค่า เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2560 มีมูลค่าส่งออก 37,000 ล้านบาท มาจนถึงปี 2564 มีมูลค่าส่งออกกว่า 54,400 ล้านบาท และมีการประเมินว่าปี 2565 จะมีมูลค่าส่งออกมากถึง 80,000 ล้านบาท ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องปิดกิจการจำนวนมาก แต่ “ธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง” กลับเติบโตสวนทางอย่างสิ้นเชิง.!!
ที่สำคัญผลพวงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ “การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักเพื่อคลายความเครียด เมื่อต้องใช้ชีวิตหรือกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะ “สุนัข” และ “แมว” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Pet Humanization แพร่หลายกันอย่างกว้างขวาง
ปรากฏการณ์ Pet Humanization นั่นคือพฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงตัวเองเสมือนลูกหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว หรืออาจเรียกว่า Pet Parents ที่พร้อมทุ่มเท ทั้งเงินและการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างจากมนุษย์ หรือที่คุ้นหูกันว่า “ทาสหมา..ทาสแมว” นั่นเอง..
โดยผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ระบุว่า เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงตัวเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว รองลงมา 66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงตัวเองมาก ขณะที่ 47% ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกอีกด้วย และ 37% ของผู้เลี้ยง หาก “สุนัขหรือแมว” ของตนเอง อยากได้อะไร ผู้เลี้ยงเหล่านี้จะหามาให้โดยไม่ลังเลเลยทีเดียว
นั่นจึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมา เริ่มจาก 1) ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 2) ธุรกิจการให้บริการสัตว์เลี้ยง เช่น โรงพยาบาล, คลินิก, สถานบริการรับฝากเลี้ยง โรงแรมที่พัก, สปา 3) ธุรกิจสินค้าอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง
สำหรับประเทศไทย พบว่า มีโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด 86 แห่ง โดยโรงงานบริษัทต่างชาติ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เช่น Mars Petcare บริษัทสัญชาติอเมริกัน เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข Pedigree, Cesar และอาหารแมว Whiskas และโรงงานบริษัทสัญชาติไทย อาทิ Perfect Companion Group เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข SmartHeart และอาหารแมว Me-O
โดย “ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง” กลายเป็นเรือธงสำคัญของบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลายแห่ง อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข JerHigh และอาหารแมว Jinny, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN มีสัดส่วนรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 40% ส่วนใหญ่รับจ้างผลิตและมีแบรนด์ตัวเองคือ อาหารสุนัข HAJIKO และอาหารแมว Monchou
ตามด้วยบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารแมว “เบลล็อตต้า” และอาหารสุนัข “มาร์โว่”, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เจ้าของอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ Lifemate และบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เจ้าของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้แบรนด์ Katty Boss และ Bravo Boss
จากปรากฏการณ์ Pet Humanization ที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์โลก “ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง” จึงกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ในมหาสมุทรสีน้ำเงิน (Blue Ocean) ในทันที เพราะนับจากนี้ไป “น้องหมา น้องแมวไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง..แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว” ไปแล้ว..!!??