พาราสาวะถี
รู้ดีอยู่แล้วในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าถนนสายการเมืองมันไม่ง่ายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายใต้กลไกของขบวนการสืบทอดอำนาจ
รู้ดีอยู่แล้วในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าถนนสายการเมืองไม่ว่าจะระดับชาติหรือท้องถิ่นมันไม่ง่ายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายใต้กลไกของขบวนการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น แม้ว่าจะชนะการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 1.3 ล้านเสียง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ก็ยังต้องลุ้นว่า กกต.ทั้ง 7 คน จะลงมติรับรองให้ได้นั่งเก้าอี้บริหารเมืองหลวงแห่งนี้แบบเต็มภาคภูมิหรือไม่ หากสถานการณ์ปกติ กกต.เป็นเสือไม่ใช่แมวของเผด็จการที่อุ้มชูกันมา ประชาชนคงมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นมากกว่านี้
สิ่งที่ประกาศโดย กกต.กทม.ว่าคะแนนเสียงไม่ใช่ตัวชี้วัดที่จะบีบให้ กกต.ต้องลงมติรับรองชัชชาติ โดยอ้างหลักการว่าการเลือกตั้งจะต้องสุจริต เที่ยงธรรม ก็เป็นการท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง เพราะหากมองไปด้วยใจที่บริสุทธิ์แล้ว เลือกตั้งครั้งนี้เป็นเลือกตั้งท้องถิ่นประเด็นเที่ยงธรรมนั้นควรถูกนำมาใช้กับ กกต.ต่อการบริหารจัดการเลือกตั้งมากกว่า ขณะเดียวกันชัชชาติก็ไม่ได้มีอำนาจรัฐ ยิ่งชัดเจนไปอีกว่าไม่มีกรณีที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบจนเป็นปัญหาเรื่องความเที่ยงธรรมแต่อย่างใด
ผิดกับบางรายเสียด้วยซ้ำไปที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศทำงานมากกว่า 8 ปี ร้อยวันพันปีไม่เคยคิดที่จะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ใด ๆ ใน กทม. แต่พอวันรับสมัครเลือกตั้งก็ดันลงพื้นที่ไปตรวจคลอง อ้างหน้าตาเฉยว่างวันไหนก็ไป อยากไปเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น ไม่ได้ถือหางใครทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ สองวันก่อนหย่อนบัตรก็ลงไปตรวจน้ำท่วมหลังฝนตกหนัก พร้อมออกอาการแก้ต่างเหมือนจะแก้ตัวแทนผู้สมัครที่ตัวเองถือหางอีกต่างหาก แบบนี้หรือเปล่าที่ กกต.ควรไปตรวจสอบ
สำหรับกรณีเรื่องร้องเรียนที่มีต่อชัชชาตินั้น 2 ประเด็นที่เห็นว่าน่าจะเป็นปมไร้สาระเสียด้วยซ้ำ ปมการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ ถามว่าจะไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเลยอย่างนั้นหรือ หรือมุ่งแต่จะเอาใจอุ้มสมกับให้เป็นรัฐราชการเหมือนขบวนการสืบทอดอำนาจที่ต้องอาศัยระบบนี้เพื่อมาอุ้มชูตัวเองให้อยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุด เพราะความจริงสิ่งที่ชัชชาติพูดก็หมายถึงการทำให้ระบบสามารถตอบโจทย์ สนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด คนดีย่อมต้องการแก้ไข
จะเห็นได้ว่าในส่วนนี้ข้าราชการ กทม.ก็ไม่ได้มองว่าเป็นการดูแคลน หรือเมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะมาด้อยค่า ไม่ให้ราคากันแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ บางสำนักงานเขต และสำนักการศึกษาของ กทม.ก็แสดงท่าทีเตรียมพร้อม ขานรับที่จะขับเคลื่อนนโยบายตามที่ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศไปแล้วอีกต่างหาก ตรงนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานย่อมมีความพร้อมในการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งที่มองเห็นแล้วว่าสามารถทำได้ไม่ใช่การเพ้อฝัน หรือคุยโม้โอ้อวดไปวัน ๆ
ส่วนอีกประเด็นป้ายหาเสียงของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ที่ร้องโดยนักร้องคนเดิมนั้น ยิ่งไร้สาระกันไปใหญ่ นอกจากไปร้อง กกต.ให้เอาผิด ล่าสุดไปแจ้งความที่โรงพักโทษฐานที่ชัชชาติไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงของตัวเองให้หมด น่าสงสัยเหมือนกันทำไมจ้องจับผิดแต่คน ๆ เดียว เห็นอยู่แล้วเป็นการโหนกระแสชัด ๆ ความจริงเรื่องป้ายหาเสียงอยู่ที่การคิด ออกแบบของผู้สมัครแต่ละคนแต่ละพรรค สิ่งสำคัญคือระหว่างหาเสียงจนเสร็จเลือกตั้ง คนจำนวนไม่น้อยก็มีการปลดไปใช้มุงหลังคา กั้นห้องหรือทำอะไรก็แล้วแต่
มันก็เหมือนกันทุกที่และการเลือกตั้งทุกระดับ เหมือนกับป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ไปติดแบบผิดกฎหมายแล้วถูกหน่วยงานไล่เก็บไปทิ้ง แบบนี้นักร้องน่าจะไปดำเนินการและเป็นประโยชน์เสียมากกว่า ถ้า กกต.บ้าจี้ในกรณีนี้ก็ต้องบอกว่าศรัทธาที่ประชาชนมีน้อยนิดอยู่แล้ว ก็น่าจะหมดไปในทันที มองมุมไหนจากสิ่งที่ชัชชาติถูกร้องมันไม่มีเหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตแม้แน่นิดเดียว หรือจะเป็นอย่างที่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า ประชาชนลุ้นผลเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมาลุ้นว่า กกต.จะใช้อำนาจเที่ยงธรรมอีกอย่างนั้นหรือ
ความพร้อมของชัชชาติต่อการทำงานให้กับคนกรุงเทพฯ ในนามผู้ว่าฯ กทม.นั้น แสดงผ่านการลงพื้นที่นับตั้งแต่หลังวันเลือกตั้งจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการรับรองผลหรือไม่ แต่ไม่เพียงแค่ประเด็นปัญหาของคนเมืองหลวงเท่านั้น การเดินเข้าไปในงานตลาด (นัด) ราษฎรที่สวนครูองุ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการที่จะเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มก้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชมต่อตัวผู้ว่าฯ กทม.มาโดยตลอด
การตอบคำถามของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ต่อการยกเลิกมาตรา 112 นั้น หากเป็นนักการเมืองคนอื่นอาจจะปฏิเสธ หรือเลี่ยงบาลีที่ทำให้เกิดความไม่พอใจของคนที่ได้ฟังคำตอบ แต่สำหรับชัชชาติฉลาดที่จะตอบและถือเป็นการมองเห็นปัญหาของการใช้มาตราดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะความจริงก็คือฝ่ายที่อ้างว่าปกป้อง เชิดชูสถาบันนั้นเอง ที่นำกฎหมายมาตรการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม
ลองคิด วิเคราะห์ตามที่ชัชชาติตอบคำถาม คิดว่าต้องเริ่มจากการไม่เอามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วค่อย ๆ พัฒนาไป ตนเป็นผู้บริหารจะต้องมีวิธีในการสื่อสาร อย่างตนก็อดทนมา 8 ปีเหมือนกัน แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน ภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งบอกว่า “การแก้แค้นที่ดีที่สุดคือทำตอนที่เย็นแล้ว” อย่าเอาความโกรธความแค้นมาทำ การยกเลิกในความเป็นจริงไม่ง่าย แต่ขออย่านำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราเริ่มกันตรงนี้ก่อนดีไหม เวลาอยู่ข้างพวกเรา ถือว่าแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง
เหมือนอย่างที่รุ้งในฐานะคนถามอธิบาย “ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ ที่ตอบคำถามตามที่อาจารย์คิด” ขณะที่ อานนท์ นำภา ในฐานะพี่ใหญ่ของหัวขบวนการคนรุ่นใหม่ก็ได้โพสต์ข้อความที่เป็นเหมือนการเตือนสติคนหนุ่มสาว หลายคนออกมาติเตียนคนรุ่นใหม่ด้วยความหวังดีจริง ๆ แม้การตินั้นบางครั้งก็อาจติเตียนผิด แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาร้าย ซึ่งตนว่าคนรุ่นใหม่ต้องรับฟัง และขบคิดให้มาก ๆ ถกเถียงอย่างระวัง อย่าผลักให้คนหวังดีไปเป็นศัตรู บทเรียนที่คนรุ่นใหม่ต้องรู้จากการเคลื่อนไหวจนถึงวันนี้ก็คือ ต้องขบคิดว่าอันไหนมิตร อันไหนศัตรู เพราะถ้าไปใส่ไม่ยั้งกับมิตรอันนั้นคือเท่ากับผลักเขาเป็นศัตรูเลยทีเดียว