เศรษฐกิจโลกจะถดถอย?

หลังจากที่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ข้าวยากหมากแพงมากขึ้น และจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น  จึงมีความวิตกและมีเสียงเตือนหนาหูขึ้นว่า ทั่วโลกอาจจะเกิด “ภาวะถดถอย” ได้


หลังจากที่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ข้าวยากหมากแพงมากขึ้น และจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จึงมีความวิตกและมีเสียงเตือนหนาหูขึ้นว่า ทั่วโลกอาจจะเกิด “ภาวะถดถอย” ได้

ดอยช์แบงก์เป็นธนาคารใหญ่รายแรก ๆ ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐฯ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี แม้คาดว่าจะเป็น “ภาวะถดถอยที่ไม่รุนแรง” ก็ตาม

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกก็ออกมาเตือนว่า ยากที่จะ “หลีกเลี่ยง” ภาวะถดถอย โดยการรุกรานยูเครนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะถดถอยทั่วโลกเพราะว่าราคาอาหาร พลังงานและปุ๋ยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการ ล็อกดาวน์ในจีนเพื่อคุมโควิด ยิ่งเพิ่มความกังวลที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี มีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่พอจะสร้างความสบายใจได้ว่า จะไม่เกิดภาวะถดถอยทั่วโลก แต่ อาจต้องพบกับภาวะ “Stagflation” ซึ่งการเติบโตต่ำแต่ราคาสินค้าสูงขึ้นเป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เพราะว่าสงครามยูเครนและการหยุดชะงักที่เกิดจากโควิด ยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ราคาโภคภัณฑ์จะเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาสหน้า แต่จะยังคงสูงกว่าก่อนเกิดสงครามยูเครนเป็นการถาวร ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่า อุปทานโภคภัณฑ์หลายอย่างของรัสเซีย จะลดลงเป็นการถาวร

แน่นอนว่า การพุ่งขึ้นของราคาสินค้า จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตในหลายส่วนของโลกแม้ว่าจะลดลงแต่ก็ยังคงโตต่อไปได้และตลาดงานยังไม่เข้าขั้นล่มสลาย อัตราการว่างงานในเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทั่วโลก ต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

สำหรับเศรษฐกิจในเอเชีย นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเกือบส่วนใหญ่ไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยเพียงแต่จีดีพีน่าจะติดลบต่อเนื่อง หรือถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย แต่ผู้บริโภคในเอเชียก็มีเงินออมเพียงพอและได้ตุนสินค้าคงทนไว้ ดังนั้นจึงน่าจะรองรับสถานการณ์ได้ และจะไม่เลวร้ายเหมือนตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้เห็น

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าจะไม่เกิดภาวะถดถอยไปอีกอย่างน้อย 18 เดือน โดยชี้ว่า ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรระยะยาวกับพันธบัตรระยะสั้น ยังไม่ได้พลิกผัน หรือส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะถดถอยอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกันธนาคารกลางทั่วโลกก็กำลังขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างเต็มเหนี่ยว

ธนาคารกลางสหรัฐได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 22 ปี เมื่อต้นเดือนนี้ โดยขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานครึ่งเปอร์เซ็นต์ และยังเตือนว่าจะขึ้นอีกหลายครั้งจนมั่นใจว่าเงินเฟ้อบรรเทาลง

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกครึ่งเปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการขึ้นครั้งที่ห้าติดต่อกันและยังส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ยสูงสุดจะสูงกว่าที่คาดการณ์ในก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงเช่นกันว่า การคุมเงินเฟ้อรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะถดถอยได้ นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า ภาวะ Stagflation คุมได้ยาก เนื่องจากการควบคุมราคาที่สูงโดยการขึ้นดอกเบี้ย อาจนำไปสู่การเติบโตที่ลดลง ยิ่งเงินเฟ้อสูงนานเท่าไหร่ ตลาดก็จะยิ่งกังวลว่าธนาคารกลางจะไม่สามารถทำให้มันลดลงโดยไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย

แม้แต่เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ยอมรับแล้วว่า การที่จะทำให้เงินเฟ้อเหลือ 2% ตามเป้า ย่อมต้องเจอกับความเจ็บปวดบ้าง

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมั่นในธนาคารกลางมองว่า ธนาคารกลางจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้โดยไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย แผนการขึ้นดอกเบี้ยในหลายประเทศ เช่นอังกฤษ ยุโรปและสหรัฐฯ ควรจะเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงตามเป้า และมีสิทธิ์ที่จะเกิด ภาวะถดถอยแบบ “Volcker-shock” ได้

Volcker-shock เป็นวิกฤติที่ พอล โวลเกอร์ อดีตประธานธนาคากรลางสหรัฐในช่วงปี 2522 ถึง 2530 ได้ขึ้นดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในขณะนั้นสูงกว่า 10%

โวลเกอร์ ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 20% ในเดือน มีนาคม 2523 และจากนั้นได้ลดดอกเบี้ยลง ในเดือน มิถุนายน แต่เมื่อเงินเฟ้อกลับมาอีก ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยกลับไปที่ 20% อีกในเดือน ตุลาคม และคงดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 16% จนกระทั่งถึงเดือน มีนาคม 2524  การตัดสินใจใช้ยาแรงของโวลเกอร์ ทำให้เงินเฟ้อลดลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ถดถอยจนเป็นที่กล่าวขานมาจนบัดนี้

สถานการณ์ที่มันมาผสมโรงกันในขณะนี้ เป็น “Perfect Storm” ที่ทำให้ผู้คนทุกหัวระแหงที่ลำบากจากสถานการณ์โควิดมานานสองปีกว่าแล้ว ต้องมาประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกันต่อไปอีก  เศรษฐกิจใดจะ “รอด” หรือ “ถดถอย” ต้องอาศัย “ความสามารถ” ของผู้กำหนดนโยบาย ในการบริหารเงินเฟ้อและการเติบโตได้อย่างสมดุลและลงตัว

แต่สำหรับประเทศไทย ไม่ค่อยจะแน่ใจว่า เราจะรอดจากภาวะถดถอยได้หรือไม่ ถ้าดูจากผลงานรัฐบาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

Back to top button