พาราสาวะถี
เข้าทำงานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยสำหรับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 หลังจากเดินทางไปรับหนังสือรับรองจาก กกต.
เข้าทำงานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยสำหรับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 หลังจากเดินทางไปรับหนังสือรับรองจาก กกต. แน่นอนว่าเจ้าตัวได้ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ได้ติดใจต่อความชักช้า ลีลาของ กกต.ในการลงมติรับรอง แต่ฟังคำชี้แจงของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ที่มามอบใบรับรองให้ชัชชาติ และส.ก.แล้ว ต้องบอกว่าหลักการที่อ้างมานั้นไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ได้ ในฐานะลูกหม้อของ กกต.มายาวนาน ก็อยากให้แสวงลองทบทวนดูว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไร้ความเชื่อถือ ศรัทธาต่อองค์กรที่ตัวเองสังกัด
ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ กกต.ชุดปัจจุบันที่ทำงานเหมือนข้าราชการประจำ การตีความข้อกฎหมายตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือบทพิสูจน์ว่า การกระทำเป็นไปตามหลักการที่เลขาธิการ กกต.กล่าวอ้างหรือไม่ นั่นไม่ใช่สาระสำคัญหากพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เพราะชัชชาติมีกว่า 1.38 ล้านเสียงเป็นเครื่องการันตี แต่ลองย้อนกลับไปยังประเด็นที่มีคนร้องเรียนที่ กกต.ตีตกไปก็บอกไว้แล้วว่าไร้สาระสิ้นดี
ดีที่ว่าผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ไม่ได้ติดใจที่จะไปเอาความกับคนที่ยื่นร้อง ซึ่งก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนด้วยว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเตะถ่วงหลังการเลือกตั้ง แค่มอบหมายให้ฝ่ายรับเรื่องไปตรวจสอบข้อกฎหมายดูก็รู้แล้วว่าควรหรือไม่ที่จะนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุม กกต.ชุดใหญ่ให้เสียเวลา มิหนำซ้ำ ยังถูกด่าทอต่อว่าให้เสียหายโดยใช่เหตุ เว้นเสียแต่ต้องการจะใช้เรื่องเหล่านี้เพื่อเอาใจผู้มีพระคุณ ถ้าเช่นนั้นก็เอาที่สบายใจ
เมื่อเข้าทำงานทันทีหลังจากรับหนังสือรับรองจาก กกต. ก็เป็นไปตามที่ชัชชาติให้คำมั่นไว้ มีการประกาศรายชื่อของทีมบริหารฝ่ายการเมืองทั้งหมด ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมายทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ทั้งตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. และเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ส่วนที่ปรึกษาก็ต้องแยกเป็นสองส่วน คือ ตำแหน่งตามกฎหมายที่มีจำนวนจำกัด กับที่ปรึกษาส่วนตัวที่ไม่ได้มีเงินประจำตำแหน่ง ตรงนี้สามารถตั้งได้ตามความต้องการของผู้ว่าฯ กทม.
เมื่อพิจารณาในส่วนรองผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ต้องยอมรับว่ามีความหลากหลายที่จะช่วยสนองตอบการขับเคลื่อน 214 นโยบายของชัชชาติได้เป็นอย่างดี กำลังหลักในการประสานกับข้าราชการ กทม.ทุกระดับการ ได้ จักกพันธุ์ ผิวงาม ลูกหม้อขนานแท้มาร่วมทีม ก็เท่ากับเป็นการซื้อใจข้าราชการจำนวนมากไปได้ล่วงหน้าแล้ว เพราะเจ้าตัวได้ชื่อว่าเป็นคนที่บุคลากรในองค์กรให้การยอมรับในลำดับต้น ๆ ในเรื่องความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรงไปตรงมา
ขณะที่สองรายคือ วิศณุ ทรัพย์สมพล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องระบบราชการก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะรายหลังที่ผูกพันกับ กทม.มาอย่างยาวนานในฐานะที่มีพ่อเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการเขต ซึ่งเจ้าตัวเองระยะหลังก็ได้รับการแต่งตั้งให้มาทำงานใกล้ชิดกับ กทม.อยู่แล้ว ดังนั้น จึงง่ายในแง่ของการประสานงาน แต่การวางตัวทั้งสองรายนี้ในเก้าอี้รองผู้ว่าฯ ชัชชาติน่าจะหวังผลในแง่ของการประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนมากกว่า
เช่นเดียวกันกับกรณีของรองผู้ว่าฯ อายุน้อยที่สุด ศานนท์ หวังสร้างบุญ ด้วยวัยเพียง 33 ปี หากดูจากโปรไฟล์การศึกษาบางส่วนอาจจะมองเป็นเรื่องของจุฬาฯ คอนเนคชั่น ในฐานะศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วยกัน แต่ความจริงแล้วรองผู้ว่าฯ รายนี้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับคนในกรุงเทพฯ ฐานะนักกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับคนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของ กทม. นั่นย่อมมองได้ว่าผู้ว่าฯ กทม.ตั้งเป้าหมายที่จะให้รองผู้ว่าฯ คนนี้ไปทำงานกับภาคประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ที่สำคัญของทีมบริหารการเมืองของผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกจับตามองมาทุกยุคทุกสมัยคือ เลขานุการ เพราะจะเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิด เป็นด่านหน้าในการคัดกรองทั้งเรื่องงาน บุคคล หรือจะเรียกว่าทุกเรื่องที่จะถูกส่งถึงมือผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม.มีอันต้องเดือดร้อนมาจากคนที่มาทำหน้าที่เลขานุการจำนวนไม่น้อย และบางยุคทั้งผู้ว่าฯ และเลขาฯ ก็ต้องเผชิญชะตากรรมจากการถูกร้องเรียนและเอาผิด บางรายถึงขั้นถูกดำเนินคดีติดคุกติดตะรางกันมาแล้ว
การเลือก ภิมุข สิมะโรจน์ ที่วันนี้แม้จะดีดตัวเองมาจากแวดวงการเมืองในฐานะที่อดีตเคยเป็น ส.ส.เขตบางพลัด 2 สมัยในนามพรรคไทยรักไทย แต่ในทางการเมืองย่อมที่จะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและอาจมีการนำไปเป็นประเด็นเพื่อพาดพิงไปยังพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่า ห้วงระยะเวลาเตรียมตัวก่อนเลือกตั้งกว่า 2 ปี จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ชัชชาติได้แสดงให้เห็นแล้วว่าตัวเองเป็นอิสระอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าคนที่เลือกมาร่วมงานก็ได้รับการรับรองเบื้องต้นแล้วว่าอิสระเหมือนกัน
จากปฏิกิริยาของคนกรุงเทพฯ ที่แสดงออกต่อชัยชนะของชัชชาติ เชื่อได้ว่าเราจะได้เห็นการทำงานที่รวดเร็ว ตอบสนองต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นด้านหลัก เพราะไร้เกมทางการเมือง ส่วน ส.ก.ที่เป็นของเพื่อไทยและก้าวไกลเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภา กทม.นั้น หากไม่มีการวางยากันทางการเมือง ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงให้สมกับที่ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งปณิธานไว้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งหมดมันอยู่ที่ความร่วมมือและการขับเคลื่อนโดยใช้กลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาล
สิ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของผู้ว่าฯ กทม.ในการขับเคลื่อนงานให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกเหนือจากการบริหารจัดการงบประมาณที่มีจำนวนหลายหมื่นล้านบาทให้มีประสิทธิภาพแล้ว การประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะต้องอาศัยเม็ดเงินจำนวนหนึ่งเข้ามาเสริมสร้าง หรือดำเนินนโยบาย เนื่องจาก กทม.เองมีงบสำหรับการลงทุนไม่มาก หากทำได้ก็จะเป็นสิ่งเปรียบเทียบไปถึงการเมืองภาพใหญ่ว่า วิธีการแสวงหาความร่วมมือ การหาเงินเพื่อมายกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่ต้องจ้องแต่จะรีดภาษีจากประชาชนนั้นเขาทำกันอย่างไร