หวั่นกำไรบจ.ทรุดยาว!
เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 65 มีกำไรสุทธิรวมลดลง
เส้นทางนักลงทุน
เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2565 มีกำไรสุทธิรวมลดลง 1.7% เหลือ 246,852 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 251,198 ล้านบาท แต่มียอดขายรวม 4,011,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% จาก 2,918,432 ล้านบาท เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด
เป็นที่น่าสังเกตว่าในไตรมาสนี้ต้นทุนการผลิตของบจ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 3,108,281 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 42.2% จาก 2,186,137 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อน เพิ่มขึ้น 4.8% จาก 2,964,646 ล้านบาท สะท้อนว่าแนวโน้มต้นทุนของบจ.ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) จะมากถึง 478,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสูงกว่า
เช่นเดียวกับบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่มีสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,498 ล้านบาท ลดลง 7.2%
ขณะที่มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.0% แต่มีสาเหตุจากมีการบันทึกกำไรจากการขายโรงไฟฟ้าของบจ.แห่งหนึ่ง มูลค่ารวม 1,423 ล้านบาท ดังนั้นหากไม่รวมรายการนี้กำไรสุทธิก็จะลดลงเช่นกัน
ส่วนยอดขายรวมอยู่ที่ 48,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% แต่มีต้นทุนขาย 38,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.6% เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่ายอดขาย
มีการประเมินล่วงหน้าแล้วว่าต้นทุนการผลิตของบจ.จะถีบตัวขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น ซึ่งบจ.ภาคการผลิตจะต้องแบกรับภาระไว้ แต่เมื่อผนวกเข้ากับผลกระทบของภาคธุรกิจประกันภัยที่ประสบวิกฤตมีการเคลมประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” มูลค่ามหาศาล ยิ่งเป็นตัวฉุดรั้งภาพรวมกำไรบจ.ให้ทรุดตัวลงหนักกว่าเดิม
ด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บจ.ใน SET มีความสามารถในการทำกำไรด้อยลงกว่า 1-2% โดยมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลักและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.93% และ 6.15% ตามลำดับ ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 12.85% และ 8.61% ตามลำดับ
แถมยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับที่ 1.61 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.51 เท่า เมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ขณะที่บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 23.8% มาอยู่ที่ 20.5%
หากพิจารณาเฉพาะในแง่ของกำไรสุทธิพบว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคกำไรรวมทรุดตัวลงหนักที่สุด ถึง 82.83% แยกเป็น หมวดแฟชั่น กำไรหดลง 40.70% ตามด้วยของใช้ครัวเรือนและสำนักงาน ติดลบ 114.54%, ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ ติดลบ 86.83%
กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินกำไรรวมลดลง 31.24% แม้หมวดธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรสุทธิเติบโตถึง 44.53% แต่หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์กำไรต่ำลง 9.06% ส่วนหมวดประกันภัย ประกันชีวิต ทรุดหนักถึง 992.09%
กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารกำไรลดลง 21.05% แยกหมวดเป็น ธุรกิจการเกษตร กำไรหายไป 53.52% แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเติบโตได้ 7.04%
สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม มีเพียงหมวดวัสดุอุตสาหกรรม-เครื่องจักร และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่มีกำไรเติบโตขึ้น หมวดที่เหลือ ทั้งยานยนต์, กระดาษและวัสดุการพิมพ์, เหล็ก กำไรลดลงทั้งหมด
ส่วนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีเพียงหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโต 11.50% หมวดที่เหลืออย่างวัสดุก่อสร้าง, รับเหมาก่อสร้าง กำไรลดลงทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี บจ.ที่มีผลการดำเนินงานดีในไตรมาส 1 เช่น หมวดธุรกิจการแพทย์ หมวดพาณิชย์ หมวดขนส่ง และหมวดธุรกิจท่องเที่ยว อันเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดของประเทศไทยและต่างประเทศ
มีการประเมินว่าผลกระทบจากต้นทุนบจ.จะรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 นี้ เนื่องจากจะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาวัตถุดิบและการขนส่ง ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า
นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ผู้ประกอบการจะเริ่มทยอยสต๊อกวัตถุดิบเพื่อทดแทนของที่หมดไป ทำให้ต้องสั่งวัตถุดิบใหม่ที่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับไตรมาสนี้โดยปกติจะเป็นช่วงโลซีซั่นและมีวันหยุดยาวหลายวัน ดังนั้นผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตจึงมีมากกว่าไตรมาส 1 ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบจ.จะลดลงมากด้วย
สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 1 เดือน ไตรมาส 2 ก็จะสิ้นสุดลง แต่ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีท่าทีจะจบลงในระยะเวลอันใกล้นี้ ความยืดยื้อยาวนานของสงครามจะทำให้บจ.จะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นต่อไป แม้บางรายจะเลือกผลักภาระให้ผู้บริโภคบางส่วนก็ตาม
แนวโน้มในปัจจุบันเป็นการส่งสัญญาณว่าบจ.ยังจะต้องประสบปัญหาต้นทุนพุ่งขึ้นต่อเนื่องไปในช่วงไตรมาส 3 นั่นเท่ากับว่ากำไรของบจ.ในไตรมาส 3 ก็อาจจะทรุดยาวต่อเนื่องด้วยเช่นกัน