พาราสาวะถี
โล่งใจได้แต่ใช่ว่าจะสบายใจสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หลังประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการผ่านวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66
โล่งใจได้แต่ใช่ว่าจะสบายใจสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการผ่านวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 72 คนมาพิจารณา กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 30 วัน เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังไงก็โหวตผ่านกันอยู่แล้ว และยิ่งไม่ต้องแปลกใจที่จะมีงูเห่าที่เห็นชัด ๆ คือ 7 เสียงของพรรคเพื่อไทย เพราะคนเหล่านี้แสดงทีท่าชัดเจนแล้วว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเปลี่ยนสีเสื้อแน่นอน
สิ่งที่น่าสนใจคงเป็นเรื่องของประกาศิตจากปากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่สั่งผ่านรัฐมนตรีที่จะไปนั่งเป็นกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ และหัวหน้าพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส.ของพรรคไปนั่งเป็นกรรมาธิการ ห้ามมีการเรียกร้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านกระบวนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเป็นอันขาด มันจะทำกันได้จริงหรือ เพราะแค่ชั้นการตั้งกรรมาธิการก็ยังยอมให้โควตาพรรคเล็ก 1 ที่นั่งในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแลกกับเสียงที่จะยกมือให้
อย่าลืมเป็นอันขาดว่างบประมาณที่กำลังจะพิจารณากันอยู่นั้น จะถือเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้แล้ว อันหมายถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในปีหน้า นั่นหมายความว่า จะต้องมีการยื่นหมูยื่นแมวจัดสรรปันส่วนกันให้ลงตัว ฝ่ายค้านแม้จะโหวตไม่รับหลักการก็ถือเป็นไปตามกลไกและเกมการเมืองที่จะต้องดำเนินการ แต่บนข้อเท็จจริงทางการเมืองเรื่องน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ามีกันมาตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของกฎหมายงบประมาณเท่านั้นที่ต้องติดตามกัน ร่างกฎหมายลูกสองฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งจ่อจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ประเด็นที่สังคมรอลุ้นกันอยู่หนีไม่พ้นสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะหารด้วย 100 หรือ 500 กันแน่ ถ้าไม่มีอะไรพลิกโผยึดตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการก็คือหาร 100 ขณะที่ท่าทีของพรรคที่ไม่ยอมฟันธงอย่างภูมิใจไทยก็บอกว่าจะโหวตไปตามมติของกรรมาธิการเสียงข้างมาก
แต่ไม่ว่าจะออกสูตรไหนสุดท้ายน่าจะหนีไม่พ้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด กรณีจะหารกันด้วย 500 ก็คือการกลับไปคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีภายใต้วิธีการคิดแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP แต่ว่าในร่างแก้ไขกฎหมายลูกที่ผ่านการรับหลักการของรัฐสภาในวาระที่แรกนั้นเป็นแบบใช้ 100 หาร แม้แต่ร่างของพรรคก้าวไกลที่มีแนวคิดเรื่องหาร 500 ก็ยังเป็นการเสนอให้หาร 100 เช่นเดียวกับร่างของคณะรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของพรรคเพื่อไทย
มากไปกว่านั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ได้ให้ความเห็นว่า ทั้ง 4 ร่างที่ผ่านการรับหลักการในวาระแรกมานั้น ถอดเอามาตรา 91 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่เน้นคำว่า “การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม” มาเป็นการตีโจทย์ให้คำนวณโดยใช้ 100 หารจำนวนคะแนนรวมของบัตรใบที่สอง ซึ่งเป็นการพยายามจะบอกว่า ไม่มีแล้ววิธีการคำนวณแบบ 500 หารแล้วไปคิดแบบจัดสรรปันส่วนผสม
ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจผู้ที่ได้ชื่อว่าซามูไรกฎหมาย เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า หากรัฐสภาเลือกแนวทาง 500 หาร จะต้องมีการเข้าชื่อกันตามมาตรา 148 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภานั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนสูตรหาร 100 นั้น สมชัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบนั้น เป็นการแก้ที่ไม่สะเด็ดน้ำ เนื่องจากรัฐสภาไปหยิบเอาร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา และรัฐสภาเพิ่มมาตราที่ต่อเนื่องเข้าไปอีก 1 มาตรา เป็น 3 มาตรา
นั่นก็คือ มาตรา 83 การเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส. มาตรา 86 การกำหนดจำนวน ส.ส.เขตในแต่ละจังหวัด และมาตรา 91 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมาตรา 91 นั้นเขียนเพียงหยาบ ๆ ว่า “การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม” แค่มาตราที่ไม่ได้แก้คือ มาตรา 90 การกำหนดให้ต้องสมัคร ส.ส.เขตก่อนส่งบัญชีรายชื่อ ก็ได้แผลงฤทธิ์เดชแล้วว่า ทำให้บัตรเลือกตั้งสองใบ ไม่สามารถให้เป็นหมายเลขเดียวกันได้ ต่างเขตต้องต่างเบอร์ และเป็นเบอร์ที่ต่างจากเบอร์บัญชีรายชื่อ
ส่วนมาตรา 93 และ 94 ที่ไม่ได้แก้ จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแนวคิดการเอา 100 หารหรือการนับแบบคู่ขนาน เพราะคำว่า “การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ” ยังคงค้างอยู่ในมาตรา 93 กรณีที่เลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ และในมาตรา 94 กรณีมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตภายในหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ครั้นจะบอกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการบังคับใช้เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ สองมาตราดังกล่าว ถือว่าไม่ต้องใช้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปดูให้วุ่นวาย
คำถามที่หนักที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ หากเกิดกรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ หรือเกิดกรณีต้องเลือกตั้งใหม่ในหนึ่งปี แล้วรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีและคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ จะไม่ทำตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือ กกต.จะกล้าทำสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ การฝ่าด่านที่จะใช้ 100 หาร จึงต้องตอบคำถามว่า จะจัดการกับมาตรา 93 และ 94 ที่ยังไม่แก้ไขในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถ้ารัฐสภาลงมติใช้สูตรหาร 100 ก็จะมี ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองส่วนเข้าชื่อให้ประธานสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ตราขึ้นนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
สรุปได้ว่ายังไงเรื่องนี้ไม่ได้จบที่การลงมติของที่ประชุมรัฐสภาแน่ เพราะ วิษณุ เครืองาม ก็ย้ำหนักแน่น เรื่องหาร 100 หรือ 500 ถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง แม้กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้หาร 100 อยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐสภาไม่เอาก็ต้องโหวตกลับ ดังนั้น ตนจึงบอกว่ายังไม่จบ “เชื่อเถอะ เดี๋ยวต้องส่งไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดีไม่ดีอาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอีก ก่อนจะทูลเกล้าฯ” บอกแล้วว่าการจะแก้กฎหมายของขบวนการสืบทอดอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย