พาราสาวะถี

สังคมยังให้ความสนใจประเด็นงบกระทรวงกลาโหมว่าจ้าง สวทช. ให้ตรวจสอบเครื่องตรวจจับระเบิดลวงโลกจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท


ควันหลงจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ที่สังคมยังให้ความสนใจคงเป็นประเด็นงบกระทรวงกลาโหมที่ว่าจ้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ให้ตรวจสอบเครื่องตรวจจับระเบิดลวงโลกจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อนำไปเป็นหลักฐานประกอบการเรียกค่าเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิต ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการว่าจ้างแพงเกินไปหรือไม่ ที่ค่าผ่าเครื่องตกเครื่องละ 10,000 บาท

เพราะความเป็นจริงกรณีนี้หลักฐานที่สำเร็จ และน่าจะสามารถนำมาใช้ประกอบในการเรียกร้องค่าเสียหายได้เลย คือ ผลของคดีที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิดจีที 200 ที่ตั้งอยู่ในอังกฤษ 3 บริษัท ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก และสั่งยึดทรัพย์กว่า 400 ล้านบาทไปตั้งแต่ปี 2556 ในข้อหาจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิดดังกล่าวให้กับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยโดยการฉ้อโกง เหล่านี้คือหลักฐานชั้นดีที่ชี้ชัดว่าสิ่งที่ทางการจัดซื้อจัดจ้างมานั้นใช้ไม่ได้จริง

ขณะเดียวกัน เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณเพื่อพิสูจน์นั้น แม้แต่ความเห็นของคนที่เคยเป็นแกนนำหลักในพรรคสืบทอดอำนาจ ที่วันนี้มานั่งเป็นรองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรคสร้างอนาคตไทยอย่าง วิเชียร ชวลิต ยังยอมรับว่า “มันแพงไป” เสียดายเงิน เพราะเหมือนเสียรู้เขา ไม่ต่างจากนำเงินไปซื้อไม้ง่ามอันหนึ่งที่คนเขาวิจารณ์ว่าเอาไว้หาศพ เช่นเดียวกับ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ที่เปิดโปงและผ่าพิสูจน์จีที 200 มาแล้ว

มองด้วยความงุนงงสงสัยว่า ในการต่อสู้คดีจีที 200 ไม่ว่าที่ศาลไหนก็ตาม มีคำอธิบายเรื่องใช้แค่ผลจากการสุ่มตรวจก็เพียงพอแล้ว ทำนองว่าเครื่องที่ไม่ได้ทำการทดสอบ เนื่องจากเป็นเครื่องที่มียี่ห้อ ลักษณะ ชนิด ประเภทและรุ่นเดียวกันกับเครื่องที่สุ่มตรวจ อีกทั้งยังเป็นการจัดซื้อเครื่องทั้งหมดจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมดทุกเครื่อง ที่สำคัญถ้าผ่าตรวจทั้งหมดก็ใช้งานไม่ได้อีกแล้ว แล้วจะเอาไปทำอะไรดี น่าจะเป็นความเห็นเชิงประชดประชันเสียมากกว่า เพราะเจ้าตัวก็รู้ดีอยู่แล้วว่าเครื่องตรวจจับระเบิดตัวนี้มันกำมะลอ ใช้งานไม่ได้อยู่แล้ว

ประเด็นที่น่ากังขาต่อมาคือ การตั้งงบประมาณเพื่อว่าจ้าง สวทช.ในการตรวจสอบที่ นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาลแจกแจงว่า ตรวจแล้วเป็นงบค้างท่อ เนื่องจากกองทัพบกต้องนำหลักฐานพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้จริงไปใช้สู้คดีในศาล คำถามที่ตามมาก็คือ นิโรธได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วหรือไม่ เพราะกรมสรรพาวุธ ทหารบก ออกประกาศชวนให้มารับจ้างตรวจสอบจีที 200 ทั้งหมดนั้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 และมีการสรุปจัดจ้างในต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

แต่ศาลปกครองกลาง ได้ตัดสินคดีนี้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 จึงไม่น่าไม่ได้เอาผลไปใช้ต่อสู้ในศาล ส่วนคดีอาญา กองทัพบกก็ได้ฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม ผู้ขาย กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลฐานร่วมกันโกง โดยที่ทางกองทัพบกก็แจงผ่านสื่อ แต่ไม่ปรากฏรายละเอียด อ้างว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาศาลฎีกาพิพากษาให้กองทัพบกชนะคดีแล้ว และให้จำเลยคืนเงินตามมูลค่าของงบประมาณที่จ่ายไป ระหว่างนี้รอการบังคับคดีชดใช้ค่าเสียหาย

ดังนั้น จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ให้สิ้นเปลือง หรือจะเป็นอย่างที่เจษฎาตั้งข้อสังเกต “นี่คือการเอางบประมาณไปหาเรื่องทำพิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจำหน่ายเครื่องทิ้งแบบเนียน ๆ หรือเปล่า” ขณะเดียวกัน ปมจีที 200 นั้นไม่เพียงแต่สังคมจะกังขาเรื่องงบประมาณดังว่า ยังเกิดข้อสงสัยถึงกระบวนการตรวจสอบขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยตรงอย่าง ป.ป.ช. จนป่านนี้ยังมะงุมมะงาหราในเรื่องนี้อยู่

เพราะตั้งแต่เกิดเรื่องราวมีคนไปยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเอาผิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับจีที 200 เนิ่นนานตั้งแต่ปี 2555 จนจะ 10 ปีอยู่แล้ว ยังไร้คำตอบจากองค์กรนี้โดยการอ้างสารพัด ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรที่ซับซ้อนขนาดนั้น ทั้งที่ความจริงคดีความของบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศก็จบและชัดเจนไปแล้ว คดีที่เกิดขึ้นในประเทศซึ่งอยู่ในชั้นศาลก็มีบทสรุปกันไปแล้ว แต่องค์กรสอบทุจริตของไทยยังไม่ไปถึงไหน ขนาดคดีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนยังตีมึนทำให้จบไปได้ เรื่องนี้ก็ไม่ควรชักช้าจนสังคมกังขาว่า หรือกลัวว่าสรุปไปแล้วจะเจอตอที่เอาผิดกันไม่ได้

การผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านการอนุญาตโดย ศบค.ต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้วันนี้มีความเคลือบแคลงกันว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วทำไมยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันต่อไปอีก คำตอบที่ไม่ยอมรับกันมันก็แน่นอนอยู่แล้ว เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติได้มีเครื่องมือในการใช้กำราบบรรดาม็อบทั้งหลายที่จะออกมาเคลื่อนไหวกวนใจทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประสาทเสีย เพราะถ้าสถานการณ์โควิดมันดีถึงขนาดนี้ต่อให้ พ.ร.บ.โรคติดต่อยังไม่ได้แก้ไข ถึงไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องบริหารจัดการได้

ความน่าสนใจเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะอยู่ต่อหรือไม่ หากแต่เป็นความท้าทายว่าด้วยข้อเสนอของหน่วยงานท้องถิ่นที่จะให้ ศบค.ผ่อนคลายการทำกิจกรรม กิจการมากขึ้นเกือบเป็นปกติ แม้ที่จังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกคำสั่งให้ยกเลิกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ก่อนจะมีคำสั่งใหม่ยังไม่ให้ถอดแมสก์ ก็พอจะเข้าใจได้เพราะผู้ว่าฯ อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล แต่กับข้อเสนอของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นอิสระ ตรงนี้ท้าทายต่อการตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ คือ ให้มีการถอดหน้ากากในสถานที่โล่งแจ้ง และขยายเวลาการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ไปจนถึงตีสอง เพื่อให้คนทำมาหากินได้โดยระมัดระวังความปลอดภัยกันตามระบบ ตรงนี้ได้รับเสียงสนับสนุนอุ่นหนาฝาคั่ง กลายเป็นแรงกดดันให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องแบกรับไป ยิ่งเหตุผลที่จะใช้ประกอบการพิจารณาที่ว่าประชาชนให้ความร่วมมือ สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด และการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น หลายจังหวัดอาจมีปัญหา แต่สำหรับ กทม.ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรได้รับการพิจารณาอนุมัติ อยู่ที่คนรวบอำนาจไว้ในมือว่าจะตัดสินใจอย่างไร

Back to top button