ฝันกลางวันในฤดูฝนของ ก.ล.ต.

พักนี้ เราเริ่มได้เห็นความคึกคักในตลาดแรกของตลาดทุนครั้งใหม่ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.เริ่มออกโรงประชาสัมพันธ์ถึงนวัตกรรมการระดมทุนครั้งใหม่


พักนี้ เราเริ่มได้เห็นความคึกคักในตลาดแรกของตลาดทุนครั้งใหม่ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.เริ่มออกโรงประชาสัมพันธ์ถึงนวัตกรรมการระดมทุนครั้งใหม่ถึงขั้นจะยอมแก้ไขกฎหมายบริษัทมหาชนและระเบียบของตลาดกันเสียใหม่

พร้อมกันนั้นบริษัทที่ปรึกษาการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุนรวมก็เข้ามาร่วมหัวสมคบคิดกันอย่างกระตือรือร้น

หัวเรือใหญ่ของงานนี้หนีไม่พ้น ก.ล.ต. ที่ออกข่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าพร้อมออกเกณฑ์รองรับ SME และ Startup ให้สามารถระดมทุนวงกว้างได้ภายในปี 2564

ความกระตือรือร้นจนเกินงามนี้ หากลงรากลึกตามประสาคนขี้สงสัยแล้วจะพบว่า มันคล้ายคลึงกับการออกกติกามารองรับตลาด NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ยังมีเครื่องหมายคำถามว่าจะเปิดประตูสู่ “นรกขุมใหม่” อีกหลุมหนึ่งหรือไม่

ที่สำคัญหนึ่งในคนที่ร่วมออกหน้าได้แก่คุณแมนพงศ์ วาณิชธนากร ชื่อดังที่ปัจจุบันนั่งเป็นหมายเลขหนึ่งของบล. กสิกรไทย (ถึงขั้นลือหึ่งกันว่า จะมานั่งเป็นเลขา ก.ล.ต.คนถัดไปนั่นเอง แม้จะมีคนปฏิเสธว่าไม่จริ๊ง…ไม่จริงน่ะเอง)

ผมเองพยายามค้นคว้าเข้าไปถึง รายละเอียดในเอกสารเปิดเผยของ ก.ล.ต. ลงวันพุธที่ 15 กันยายน 2564  ฉบับที่ 174 / 2564 ที่ระบุว่า ก.ล.ต. คาดสามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จากผู้ลงทุนเป็นวงกว้าง (SME-PO) และการจัดตั้งตลาดรองเพื่อซื้อขายหุ้นของ SME หรือ “SME Board” ได้ภายในปี 2564 เพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้ SME และ Startup

เอกสารดังกล่าวระบุออกมาชนิดยิ่งอ่านก็ยิ่งงงว่า จะช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพ และ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ ต่อเนื่องจากการเปิดทางการระดมทุนจากผู้ลงทุนเป็นวงแคบ (SME-PP) และปรับปรุงหลักเกณ์การระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ที่มีการระดมทุนแล้วรวมเกือบ 800 ล้านบาทใน 2 ปี

ในเอกสารดังกล่าว นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีมติ เห็นชอบการออกหลักเกณฑ์ SME-PO และการจัดตั้ง SME Board โดยที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือเฮียริ่งไปแล้วมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่……คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ภายในปี 2564 หรือไม่เกินต้นปี 2565

ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้เลยตามที่คาดเอาไว้ แต่ยังมีคลิปเผยแพร่ออกมาต่อเนื่องให้เห็น

เหตุผลที่ยังสร้างกระดานซื้อขายหุ้น SME ได้เพราะว่ากันว่ามันขัดแย้งในข้อกฎหมายว่าด้วยฐานะของ SME และสตาร์ท อัพ น่ะเอง เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่า บริษัทพันทางชนิด “ลาก็ไม่ใช่ ม้าก็ไม่เชิง” จะมีอะไรมารองรับถ้าเกิดมีการกระทำที่ต้องตัดความทางกฎหมายขึ้นมา

คงไม่ถึงกับต้องให้จอมฟ้องอย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา ออกโรงมาก็มีกลิ่นทะแม่งเสียแล้วว่าบริษัทที่ “ระดมทุนจากนักลงทุนในวงจำกัด นั้นจะเรียกว่าเป็นบริษัทมหาชนแบบพิเศษ” ได้อย่างไรกัน

สำหรับระดมทุนรูปแบบใหม่และการเข้าจดทะเบียนใน SME Board ที่ใช้ชื่อว่า LiVE Exchange” ซึ่งจัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และอ้างว่าได้ “หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย)” มาหลายยกแล้ว…ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญได้อย่างกระจ่างชัด

โจทย์ที่ว่าคือ “ขายหุ้นสามัญในวงจำกัดให้กับนักลงทุนที่อยู่ในรูปของเวนเจอร์แค็ปหรือคราวด์ฟันดิง (ที่แม้กระทั่งคนใน ก.ล.ต.เรียกว่าคราวด์ ฟันเดี้ยง) ที่ไม่ต้องมีการโฆษณาในวงกว้าง” แบบบริษัทมหาชน ในตลาดแรกนั้นจะเรียกหานักลงทุนในตลาดรองได้อย่างไรกัน

เท่ากับว่านักลงทุนในรูปคราวด์ฟันดิงหรือเวนเจอร์แค็ป ที่ลงทุนในแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จะต้องรอคอยนานถึง 3 ปีกว่าที่จะรู้ว่าหุ้นสามัญที่ตนถืออยู่โดยไม่รู้ว่าบริษัทดังกล่าวจะทำ IPO ได้หรือไม่ เพื่อที่จะคืนกำไรมหาศาล

อนาคตอันเลื่อนลอยของบริษัทที่ออกหุ้นภายใต้กฎหมายบริษัทมหาชนแบบพิเศษ จึงเปรียบได้กับการ “กำตด” ทำนองเดียวกับในตลาดพระเครื่องที่มีตลาดคนโกหก “ที่ขายความฝันอันศักดิ์สิทธิ์” อย่างไรก็อย่างนั้น

ตลาด live Exchange ที่เลื่อนลอยดุจวิมานเมฆ จึงสร้างความสนเท่ห์มากกว่าน่าชื่นชม…อย่างน้อยก็จนถึงเวลานี้

จะบอกว่าผมโง่บัดซบที่ติเรือที่ยังไม่ได้สร้างขึ้นมาก็ได้นะครับ ไม่ถือสากันหรอก

Back to top button