OR=โอกาส (กัมพูชา)

ช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มคุ้นหูและคุ้นตากับคำว่า “OR=โอกาส” ซึ่งเป็นสโลแกนที่ OR น้องเล็กในกลุ่มปตท. ต้องการตอกย้ำแบรนด์กับผู้บริโภค..!!


ช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มคุ้นหูและคุ้นตากับคำว่า OR=โอกาส” ซึ่งเป็นสโลแกนที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR น้องเล็กในกลุ่มปตท. ต้องการตอกย้ำแบรนด์กับผู้บริโภค..!!

ถ้าดูความหมาย OR=โอกาส ค่อนข้างกว้างและลึกซึ้ง ทั้งเป็นโอกาสของผู้ถือหุ้น เป็นโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ ที่ OR เข้าไปร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น โอ้กะจู๋ ธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ, Kamu Tea ร้านชานมไข่มุก, Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น, Carsome แพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถยนต์มือสองออนไลน์

Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบครบวงจร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป, GoWabi แพลตฟอร์มด้านความงามและสุขภาพ รวมทั้ง Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี AI สัญชาติไทย เป็นต้น เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ และสร้างโอกาสเติบโตร่วมกันในอนาคต รวมทั้งเป็นโอกาสในการช่วยสร้างงานให้กับคนไทย…

ในมุม OR ก็เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจเช่นกัน

ส่วนอีกหนึ่งโอกาสของ OR ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ก็คือ การบุกไปที่กัมพูชา ด้วยการส่งบริษัทลูก บริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (สิงคโปร์) จำกัด (SG HoldCo) ไปจับไม้จับมือกับสองพันธมิตร บริษัท China National Aviation Fuel International Holdings Limited (CNAF) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัท Total Energies Marketing (Cambodia) Co., Ltd. (TOTAL) บริษัทในกลุ่มของบริษัท Total Energies จากประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำธุรกิจบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ หรือที่รู้จักอีกชื่อในนาม สนามบินโปเชนตง

โดยทั้ง 3 ปาร์ตี้จะถือหุ้นเท่า ๆ กัน สัดส่วน 33.33%…

ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานให้กับสายการบินต่าง ๆ ในบ้านเรานั่นแหละ

ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจในแนวดิ่งของ OR ที่เกี่ยวข้องกับออยล์โดยตรง…

จุดที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์จะแตกต่างจาก OR ในบ้านเราที่มุ่งเน้นธุรกิจค้าปลีก โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเป็นกว่า 50% ธุรกิจต่างประเทศ 20-21% ส่วนธุรกิจพลังงานลดเหลือ 31% นำไปสู่ “ค้าปลีกนำน้ำมัน” หรือ RO (Retail and Oil) จากปัจจุบัน “น้ำมันนำค้าปลีก” หรือ OR (Oil and Retail) นั่นเอง…

ส่วนที่กัมพูชาจะเป็นน้ำมันอย่างเดียว…

แต่ด้วยปัจจุบันสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย การท่องเที่ยวของกัมพูชาเริ่มกลับมา ทำให้มีเที่ยวบินเยอะขึ้น โดยปัจจุบันพบว่า มีสายการบินพาณิชย์กว่า 20 แห่งที่ให้บริการระหว่างสนามบินโปเชนตง กับหลายจุดหมายปลายทางทั่วภูมิภาคเอเชีย อาทิ โซล สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา กวางโจว เจิ้งโจว อู่ฮั่น ไทเป ฮานอย โฮจิมินห์ เกาะสมุย และกรุงเทพมหานคร

ก็จะทำให้การเติมน้ำมันเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นโอกาสของ OR

โอเค…แม้สัดส่วนรายได้จากตรงนี้อาจน้อย เมื่อเทียบกับโครงสร้างรายได้รวมของ OR แต่ก็เป็นการตอบโจทย์ OR=โอกาส..!!

ส่วนโอกาสครั้งนี้จะสร้างความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน..? โปรดติดตามตอนต่อไป

…อิ อิ อิ…

Back to top button