อย่าหวัง ‘น้ำมัน’ จะลง

ราคาน้ำมันแทบจะปรับขึ้นรายวันกันเลย คนใช้รถเริ่มปาดเหงื่อและเริ่มคิดกันแล้วว่า จะฝ่าวิกฤตน้ำมันแพงไปได้อีกนานแค่ไหน


ในช่วงนี้ได้ยินแต่เสียงบ่นว่า ราคาสินค้าขึ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะราคาน้ำมันแทบจะปรับขึ้นรายวันกันเลย คนใช้รถเริ่มปาดเหงื่อและเริ่มคิดกันแล้วว่า จะฝ่าวิกฤตน้ำมันแพงไปได้อีกนานแค่ไหน

ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้น ๆ เมื่อเกิดสงครามยูเครนในเดือน กุมภาพันธ์ และได้ทะยานเกินกว่า 124 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ภายในปลายปีนี้

จากนั้นราคาก็ได้ย่อลงมาเล็กน้อยที่ประมาณ 117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือ “โอเปกพลัส” จะเพิ่มกำลังการผลิต

ถึงแม้ว่าในที่สุด “โอเปกพลัส” ได้ตกลงกันว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 648,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน กรกฎาคมและสิงหาคมเพื่อชดเชยการสูญเสียซัพพลายน้ำมันจากรัสเซีย จากเดิมมีแผนเพิ่มการผลิตเพียง 432,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน แต่ราคาน้ำมันก็ยังไม่ยอมลดลง

เหมือนผีซ้ำด้ามพลอย บริษัทซาอุดี อารามโก บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุฯ ดันมาประกาศขึ้นราคาขายน้ำมันอาหรับไลท์ อย่างเป็นทางการต่อตลาดเอเชียเสียอีก แถมยังปรับขึ้นมากกว่าคาดถึง 2.1 ดอลลาร์ เป็น 6.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่มีการคาดการณ์ในตลาดส่วนใหญ่ไว้เพียง 1.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตราสารน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมัน WTI จึงพุ่งสูงกว่า ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในวันจันทร์หลังการปรับราคาของซาอุฯ

คำถามที่คนใช้รถอยากรู้มากในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมันจะสูงอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน  หรือ จะลดในเร็ว ๆ นี้ได้หรือไม่ ?

แต่เมื่อดูจากสถานการณ์โลก และความสมดุลของดีมานด์และซัพพลายในขณะนี้ ความหวังที่ราคาน้ำมันจะลดลงในเร็ว ๆ นี้ดูจะริบหรี่และเป็นไปได้ยากเสียมากกว่า

นักวิเคราะห์หลายคนถึงขนาดคาดว่า ราคาน่าจะยังคงยืนในระดับเลขสามหลักต่อไป โดยหากดีมานด์น้ำมันของจีนกลับมาหลังจากการล็อกดาวน์ และรัสเซียยังคงผลิตลดลง ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะกลับไปทดสอบระดับ 139 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ได้เคยขึ้นไปแตะเมื่อต้นปีนี้อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและการเติบโตที่ลดลง จะเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอย แต่ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกไม่น่าจะลดลงมากพอที่จะมีผลกระทบต่อราคาเหมือนเมื่อปี พ.ศ. 2551 เนื่องจากว่า ความกังวลที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันขณะนี้เป็นความกังวลเรื่องซัพพลายเป็นหลัก

ในขณะนี้สมาชิกอียูส่วนใหญ่มีเวลาเพียงแค่ 6 เดือนที่จะระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียและ 8 เดือนสำหรับการเลิกนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ ดังนั้นจึงน่าจะไล่ซื้อน้ำมันจากซัพพลายเออร์อื่น ๆ ต่อไป แต่น้ำมันที่ซื้อมาจากแหล่งที่อยู่ไกลจากยุโรป ก็จะทำให้ราคาสูงต่อไปเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนในการขนส่งและการส่งมอบ

แม้องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันทั่วโลกซึ่งรวมถึงรัสเซีย ควรจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่นักวิเคราะห์คิดว่า อาจยากที่จะผลิตได้มากขนาดนั้นเนื่องจากแม้แต่ก่อนที่จะเกิดสงครามยูเครน ผู้ผลิตน้ำมันได้ลดการลงทุนด้านการผลิต เพื่อหันไปลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และสมาชิกโอเปกบางชาติก็มีขีดความสามารถในการผลิตอย่างจำกัด โดยมีข้อมูลว่า แม้แต่สมาชิกที่ขีดความสามารถในการเพิ่มกำลังผลิตได้มากอย่างซาอุฯ ยูเออี และคูเวต ก็ได้ส่งออกน้ำมันในเดือน พฤษภาคม น้อยกว่าเดือน เมษายนมาก

ขณะเดียวกัน การคลายล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และดีมานด์ที่ถูกยับยั้งมานาน และดีมานด์น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อาจเป็นแรงหนุนอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อไปอีก

ปัจจัยใหญ่ที่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงได้ในระยะใกล้นี้ คือ สัญญาณที่ชี้ว่าจะมีการเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ แต่เมื่อดูจากความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ และอังกฤษที่จะส่งระบบจรวดหลายลำกล้องให้กับยูเครนที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 80 ก.ม. และคำเตือนของประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ที่จะโจมตีเป้าหมายใหม่หากชาติตะวันตกส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน ก็แสดงให้เห็นว่า ยากที่จะเจรจาสงบศึกกันได้ในเร็ววันนี้

และนั่นก็หมายถึงว่า “ยาก” มาก ที่ราคาน้ำมันจะย่อตัวลงอย่างรุนแรงอย่างที่ทุกคนหวังอยู่ในขณะนี้ได้ !

Back to top button