ศึกใหญ่ ฟินเทค ‘BNPL’
การประกาศเปิดตัว “Apple Pay Later” ของแอปเปิล อิงค์ น่าจะเป็นวิบากกรรมใหม่ที่บริษัท ฟินเทคที่ให้บริการ BNPL หรือบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง”
การประกาศเปิดตัว “Apple Pay Later” ของแอปเปิล อิงค์ น่าจะเป็นวิบากกรรมใหม่ที่บริษัท ฟินเทคที่ให้บริการ BNPL หรือบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy now, pay later) ต้องร้อน ๆ หนาว ๆ ไปตามกัน และยังอาจจะส่งผลกระทบลุกลามไปถึงธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารด้วย
หลังจากที่ได้ผลิตโทรศัพท์มือถืออย่างไอโฟน ไอแพด แมคบุ๊ก และสมาร์ท แอคเซสซอรี อีกมากมายหลายอย่าง จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ และเป็นบริษัทผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก แอปเปิลได้รุกคืบไปยังตลาดผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน เช่น บริการบัตรเครดิต และบริการชำระเงินผ่าน โทรศัพท์มือถือมาก่อนแล้วเมื่อตลาดมือถือเริ่มอิ่มตัว มีการแข่งขันสูง และส่วนต่างกำไรลดลง
แอปเปิลจะเริ่มชิมลางบริการ “Apple Pay Later” ในสหรัฐฯ ก่อน โดยอนุญาตให้ผู้ใช้บริการจ่ายเงินสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นงวด ๆ ได้ 4 งวดภายในเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่มีดอกเบี้ย
แน่นอนว่า การเข้าไปบุกตลาด BNPL ของแอปเปิล ไม่ได้เข้าไปทำแค่เล่น ๆ และน่าจะสร้างความสะพรึงให้กับบริษัทที่เป็นผู้บุกเบิกเป็นเจ้าแรก ๆ อย่าง เพย์พาล แอฟเฟิร์ม และคลาร์นา ได้ไม่น้อย เพราะคาดว่า อาจสามารถแย่งลูกค้าไปได้เป็นจำนวนมาก
แม้ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่า แอปเปิลจะมาเป็น “นักฆ่า” จนสามารถทำให้บางบริษัทสูญหายไปจากตลาด BNPL ได้ หรือไม่ แต่ข่าวการเปิดตัว “Apple Pay Later” ก็ได้ทำให้หุ้นแอฟเฟิร์มดิ่งลงถึง 170% แล้ว
ความจริงแล้ว ก่อนที่แอปเปิลจะเปิดตัว “Apple Pay Later” ตลาด BNPL มีสัญญาณว่ามีปัญหาอยู่แล้ว ในเดือนที่ผ่านมา คลาร์นา ประกาศปลดพนักงานทั่วโลก 10% โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสงครามในยูเครนและกลัวว่าจะเกิดภาวะถดถอย
เงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ได้ทำให้อนาคตของธุรกิจ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ไม่แน่นอนและสร้างความสงสัยว่า มันจะโตต่อไปได้แค่ไหน เนื่องจากว่า ต้นทุนในการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะทำให้หนี้ของบริษัทประเภทนี้แพงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเสียงติติงว่าธุรกิจนี้ส่งเสริมให้คนก่อหนี้มากขึ้นจนไม่สามารถชำระคืนได้ โดยเฉพาะคนรุ่น จึงควรจะมีระเบียบมาควบคุม มีรายงานว่าในขณะนี้หน่วยงานในอังกฤษและสหรัฐฯ กำลังหาทางสอบสวนและออกระเบียบมากำกับควบคุมอยู่
แอปเปิลกล่าวว่าจะจัดการเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อและการตรวจสอบเครดิตสำหรับ Apple Pay Later ผ่านบริษัทในเครือแห่งหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเคยร่วมมือเกี่ยวกับบัตรเครดิตอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าแอปเปิลจะมีบทบาทในการให้บริการทางการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่
แม้ว่านั่นน่าจะทำให้แอปเปิลใหญ่คับฟ้ามากขึ้นไปอีก แต่ก็มีมุมมองว่า การเข้ามาลงแข่งในตลาดนี้ของแอปเปิลจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั่วโลก โดยทำให้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
มีการคาดการณ์เป็นตัวเลขกลม ๆ ว่า ตลาด BNPLจะมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 และจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 43.8% ในช่วงปี 2564-2573 จากที่มีมูลค่าเพียงประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เติบโตคือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล การยอมรับมากขึ้นของร้านค้า การใช้บริการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มีอายุน้อย และการมีบริษัทหน้าใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกนิยมใช้บริการ BNPL เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือเพื่อที่จะสามารถซื้อสินค้าเกินงบประมาณที่มีได้ และสามารถยืมเงินได้โดยไม่ต้องตรวจสอบเครดิต
จากการสำรวจของ ZestMoney ในเดือน มกราคม ปีนี้ BNPL ได้กลายเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้คนในกลุ่มอายุต่าง ๆ ในปี 2564 โดยผู้บริโภคที่อายุน้อยที่สุดคืออายุ 18 ปี และอายุมากสุดอยู่ที่ 66 ปี การสำรวจยังพบว่าผู้ชายใช้บริการนี้เพื่อใช้เงินไปกับไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ส่วนผู้หญิงใช้ไปกับการพัฒนาทักษะการศึกษาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ด้วยแนวโน้มที่จะมีการเติบโตมาก การแข่งขันก็ย่อมจะดุเดือดเป็นธรรมดา และบริษัทใดที่มีมาตรฐานการบริการต่ำกว่าคู่แข่ง ก็ย่อมอยู่ได้ยากแม้ว่าจะมาก่อนก็ตาม ชะตากรรมของโนเกีย อีริกสัน หรืออัลคาเทล ที่เคยเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในตลาดมือถือ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า แอปเปิล “เก่งกาจ” ขนาดไหน และที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งคือ ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก!