ราคาหุ้นในยามดอกเบี้ยขาขึ้น
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขาขึ้นเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้มีเงินออม แต่ก็ถือเป็นต้นทุนของชีวิตเพราะการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ผู้บริโภคน่าจะถูกกระทบหนัก
นักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาให้ความเห็นว่ากรณีที่ดัชนี SET ร่วงลงมาใต้แนวรับสำคัญทางจิตวิทยา 1,600 จุดว่าประเด็นปกติของตลาดหุ้นไทย
คำอธิบายประเภท “วีรชนหลังสงคราม” ที่ขุดมาเพิ่มระบุว่า ราคาหุ้นจะต้องร่วงลงมาก่อนหน้า 2 เดือนของการที่แบงก์ชาติหรือธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เริ่มต้นสู่ช่วงเวลาของดอกเบี้ยขาขึ้นระลอกใหม่ เป็นการตอกย้ำให้เห็นความรู้ชนิด “ลอกเลียน” หรือ Copycat ของนักวิเคราะห์ที่เป็นไม้หลักปักเลนแบบเอาสีข้างเข้าถู
ข้อเท็จจริงของดอกเบี้ยคือไม่ว่าจะบวกหรือลบหรือนิ่งสงบ สามารถเป็นได้ทั้งจุดดีและจุดเด่นในตัวของมันเองเพราะดอกเบี้ยคือภาพสะท้อนของตลาดเงินได้ดีล่วงหน้าได้ชัดเจน
อัตราดอกเบี้ยคือแนวโน้มการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้นในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของการลงทุนและการออมซึ่งมีความหมายหลายนัยที่ซุกซ่อนอยู่เสมือนม้าของโทรจันในนิทานกรีก โบราณ
ดอกเบี้ยขาขึ้นคือการลงทุนที่เพิ่มเร็วกว่าการออม เนื่องจากคนในตลาดรู้สึกมั่นใจในอนาคตจึงเปลี่ยนแปลงเงินเป็นการเพิ่มผลผลิต ผลลัพธ์คือปริมาณเงินหายจากท้องตลาด เพราะว่าความต้องการทุน (ในรูปของเงิน) สูงขึ้นกว่าอุปทานของเงินจะเพิ่มขึ้น
ผลของอุปสงค์ทุนที่มากกว่าอุปทานจึงผลักดันให้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น (แสดงออกในรูปเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางไม่เคยชอบต้องหาทางสกัดความโลภด้วยความกลัว)
ในทางตรงกันข้ามดอกเบี้ยขาลงเกิดจากอุปสงค์ของตลาดถูกความกลัวของตลาดครอบงำจนไม่กล้าลงทุน แล้วหันไปถือเงินสดด้วยการออมแทน ทำให้ตลาดเกิดสภาพเงินฝืดกดดันเป็นสภาวะกับดักสภาพคล่องที่ยังผลให้เกิดภาวะชะงักงันชั่วคราวจนการจ้างงานหดหายไป กำลังซื้อของตลาดต่ำเกิน และกำไรของภาคธุรกิจถดถอยลง
หากมองทางด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าช่วงเวลาดอกเบี้ยขาลง ที่ส่งผลให้ความโลภเกิดสภาพ “ขี้หดตดหาย” แต่ตลาดเก็งกำไรจะฟูฟ่องเมื่อเม็ดเงินจะย้ายตลาดที่ใช้เพื่อการลงทุนเข้าในตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรเพื่อแสวหา “กำไรจากการไม่ต้องทำงาน” หรือ Positive income ที่ท้ายสุดจะนำไปสู่สภาพฟองสบู่เก็งกำไร ที่อันตรายเนื่องจากภาวะ “ช่วงเวลาของมินสกี้”
ตลาดหุ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จึงถือเป็นการ “กลับสู่พื้นฐานที่แท้จริง” ของราคาหุ้น เป็นการรีดไขมันหน้าท้องที่ดีจากการร่วงลงมาของฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาลง
ปริมาณเงินที่หดหายไปจากตลาดเก็งกำไรเคลื่อนย้ายไปสู่ตลาดการผลิต ทำให้กลุ่มการเงินได้รับอานิสงส์ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์มักจะล้อไปกับดอกเบี้ยของตลาดพันธบัตรระยะยาว จะเห็น Yield Curve มีลักษณะแบนราบมากขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้แม้ว่าเราจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวอาจไม่ได้ปรับขึ้นตาม ในขณะที่เงินฝากซึ่งเป็นต้นทุนของแบงก์
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขาขึ้นเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้มีเงินออม แต่ก็ถือเป็นต้นทุนของชีวิตเพราะการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ผู้บริโภคน่าจะถูกกระทบหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้ครัวเรือนสูง
ส่วนผู้ที่มีเงินออม ก็จะย้ายเงินจากแหล่งอื่น ๆ ไปยังธนาคารทำให้หุ้นแบงก์ที่มีฐานลูกค้าอิงกับสินเชื่อบุคคลในขณะที่ภาคธุรกิจอาจจะกระทบกระเทือนไม่มากเพราะสามารถผลักภาระต้นทุนการเงินให้ผู้บริโภคได้ง่ายกว่าไม่กระทบความสามารถในการทำกำไร
คำถามเกี่ยวกับการลงทุนที่ตามมาจากประเด็นข้างต้น คือ ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร มักจะเกี่ยวกับทางทฤษฎีการขึ้นดอกเบี้ยมักจะเป็นลบต่อตลาดหุ้น และอย่างที่เราเห็นหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโตถูกเทขายออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อตลาดเริ่มรับรู้ว่าดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น
แม้ว่าจะมีคำปลอบใจล่วงหน้าถึงผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป ไม่น่าจะกระทบมากนักแต่สถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 2544 ก็ยืนยันว่า 2 เดือนก่อนขึ้นดอกเบี้ยจริง SET มีโอกาสร่วง 5%
ครั้งนี้ก็เป็นเช่นกัน แต่ที่น่าประหลาดใจคือแม้กระทั่งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยก็ยังถูกขายทิ้งด้วย
ความไม่มีเหตุผลของตลาดยามนี้ จึงทำให้ยากจะเชื่อผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นไปชั่วครู่อย่างแปลกประหลาด