‘สหพัฒน์’ ฝ่าวิกฤตต้นทุนพุ่ง
เครือ “สหพัฒน์” นับเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ในไทยที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานมากว่า 8 ทศวรรษ
เส้นทางนักลงทุน
เครือ “สหพัฒน์” นับเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ในไทยที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานมากว่า 8 ทศวรรษ โดยมี “นายห้างเทียม โชควัฒนา” เป็นผู้ปลุกปั้นธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2485
อาณาจักร “สหพัฒน์” มีความยิ่งใหญ่ มีบริษัทในเครือร่วม 300 บริษัท มีสินค้าแบรนด์ดังเป็นที่รู้จัก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ผงซักฟอก “เปา” ผลิตภัณฑ์ซักผ้า “เอสเซ้นส์” ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน “ซิสเท็มมา” ขนมปัง “ฟาร์มเฮ้าส์” เสื้อผ้าแฟชั่น วาโก้, กีลาโรช และ แอร์โรว์ เป็นต้น
เครือสหพัฒน์เป็นกลุ่มธุรกิจที่มียอดขายมหาศาล เคยโชว์ตัวเลขรายได้รวมที่ระดับ 2.89 แสนล้านบาทมาแล้ว และยังตั้งเป้าหมายจะดันยอดขายพุ่งไปแตะหลัก 3 แสนล้านบาทอีกด้วย
แต่เป้าหมายดังกล่าวของเครือสหพัฒน์ยังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากในปี 2563-2564 ทั่วโลกรวมทั้งไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตโควิด กระทั่งเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการปิดเมือง ล็อกดาวน์ประเทศ ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน กำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ส่งผลให้ยอดขายของเครือสหพัฒน์ตกลงอย่างมาก
กว่า 70 ปี ในตำแหน่งผู้นำ “สหพัฒน์” เสี่ย “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน เอ่ยปากยอมรับว่าวิกฤตรอบนี้ของ “สหพัฒน์” หนักหนาสาหัสมาก
จากในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดนั้น นับว่ารุนแรงที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะประชาชนทั้งโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย ทั่วโลกรวมทั้งไทยและเครือสหพัฒน์กลับต้องเจอะเจอกับวิกฤตระลอกใหม่ คือ “ต้นทุน” วัตถุดิบ-ราคาพลังงาน-ค่าขนส่งโลจิสติกส์ ที่แพงขึ้นจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
“สหพัฒน์” กำลังขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าสู่ปีที่ 80 ในปี 2565 นี้ ท่ามกลางมรสุม “ต้นทุน” ถีบตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ เพราะสินค้าเครือ “สหพัฒน์” ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ก่อหวอดวิกฤตครั้งใหม่ที่ใหญ่มากให้กับเครือ “สหพัฒน์” ซึ่งเป็นวิกฤตอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้สร้างบาดแผลและบทเรียน “รุนแรง” ที่สุดในรอบ 26 ปี หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตโควิดที่คลี่คลายเร็วภายใน 1-2 ปี
ปัญหาใหญ่ที่สุดของเครือสหพัฒน์คือ ไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าได้ ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนพุ่งขึ้นรุนแรง ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าว โดยไม่รู้คำตอบว่าจะต้องแบกรับภาระนานแค่ไหน สินค้าจะปรับขึ้นราคาขายได้เมื่อไหร่ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “มาม่า”
“มาม่า” เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ติดตลาดมายาวนานกว่า 40 ปี สามารถครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไว้กว่า 50% โดยอยู่ภายใต้สังกัดบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA บริษัทหนึ่งในเครือ “สหพัฒน์”
“มาม่า” เคยสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) อย่างมาก โดยปี 2559 มีรายได้ 21,144 ล้านบาท กำไร 2,871 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 21,631 ล้านบาท กำไร 2,853 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 22,867 ล้านบาท กำไร 3,404 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 24,518 ล้านบาท กำไร 3,943 ล้านบาท
แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 “มาม่า” ยังสร้างรายได้อย่างงาม 23,839 ล้านบาท กำไร 4,090 ล้านบาท ส่วนปี 2564 รายได้ 25,096 ล้านบาท กำไร 3,575 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ปีนี้มีรายได้ 6,317 ล้านบาท กำไร 609 ล้านบาท “มาม่า” จึงเป็นดัชนีชี้วัดในภาวะที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ได้ดีตัวหนึ่ง
“มาม่า” ใช้วัตถุดิบหลักประกอบด้วย แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ใช้พลังงานคือน้ำมันเตา เหล่านี้ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ล้วนแต่มีราคาสูงกว่า “มาม่า” ทั้งสิ้น
“มาม่า” ถูกควบคุมให้ขายในราคา 6 บาทมานานหลายปีแล้ว การขอขยับราคาขึ้นรอบนี้ อาจจะมาอยู่ที่ 7-8 บาท ซึ่งไม่ใช่แค่ “มาม่า” ที่จะต้องขึ้นราคา แต่รวมถึง “ผงซักฟอก” และสินค้าอื่น ๆ โดยคำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
เสี่ย “บุณยสิทธิ์” บอกว่า หากรัฐควบคุมการขึ้นราคาสินค้านานเกินไป ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลง หรือชะลอการผลิต ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า และท้ายที่สุดสินค้าก็จะขาดตลาด แต่หากปล่อยให้ทยอยปรับขึ้นราคาก็จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว สำหรับเครือ “สหพัฒน์” ได้พยายามสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบ เพราะเศรษฐกิจไทยยังดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับต้น ๆ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับตัวต่าง ๆ รวมไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น เพราะคนไทยปรับตัวได้ดี แต่จะฟื้นตัวช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้าน
ตั้งแต่เจอโควิดมา “สหพัฒน์” ไม่มีการเซ็นสัญญาโปรเจกต์ใหม่ ๆ กับนักลงทุนต่างชาติเลย จากก่อนโควิดจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นทุกปี
ภาพรวม “สหพัฒน์” เริ่มกระเตื้องขึ้น แต่ยังไม่มาก รายได้ปี 2565 คาดว่าคงยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับปีก่อนวิกฤตโควิด แม้ไตรมาส 1 จะเริ่มมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอาหารที่เติบโตเล็กน้อย ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ถึงจะกลับไปสร้างรายได้เท่ากับปีก่อนเกิดโควิดได้
ปัญหา “เงินเฟ้อ” จากราคาข้าวของแพงเพราะพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะจบเร็วหรือช้า ก็เป็นปัญหาที่เครือ “สหพัฒน์” เป็นห่วงว่าจะต้องคอยรับมือหาหนทางแก้ไขสิ่งที่จะตามมาอีกด้วย
ปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาทำให้ก้าวย่างสู่ปีที่ 80 ของเครือ “สหพัฒน์” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ต้นทุนพุ่ง แต่สินค้าปรับราคาขายขึ้นไม่ได้ กำลังซื้อของผู้บริโภคก็หดหาย แต่เสี่ย “บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา” มั่นใจว่า “สหพัฒน์” จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ภายใต้ “คาถา” คือ “Change-การเปลี่ยนแปลง” และส่งต่อ “คนรุ่นใหม่” ลุยธุรกิจนั่นเอง