อั้นไม่ไหวเงินเฟ้อพุ่ง ‘กนง.’ จ่อขึ้นดอกเบี้ย

การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ เดือนพ.ค. 65 ของกระทรวงพาณิชย์ ได้สร้างความประหลาดใจอย่างมาก จากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี


เส้นทางนักลงทุน

การประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ได้สร้างความประหลาดใจอย่างมาก จากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ที่มาพร้อมกับเซอร์ไพร์สจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบบไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สิ่งที่น่าจับตาก็คือ กนง.ได้ปรับกรอบเงินเฟ้อปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเดิมมาก ขณะที่ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้เป็น 3.3% จากมุมมองเดิมที่ 3.2%

ตัวเลขเงินเฟ้อ-อัตราดอกเบี้ย-และภาวะเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก โดยเงินเฟ้อหมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าพิจารณาจากค่าของเงิน เงินเฟ้อคือภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจะซื้อของชิ้นเดิมนั้นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น แปลง่าย ๆ อีกแบบก็คือ ของแพงขึ้นจนอาจกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน

ส่วนความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยก็คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นการดึงให้เงินไหลเข้าประเทศ ส่งผลให้เงินสกุลของประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงแข็งค่าขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าก็จะมีต้นทุนในการนำเข้าสินค้าที่ต่ำลง เสมือนซื้อของในปริมาณเท่าเดิมแต่ราคาถูกลงนั่นเอง

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม เท่ากับ 106.62 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% เป็นการสูงขึ้นในรอบ 13 ปี และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้น 1.40% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2565) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5.19% เงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง การผลิต และราคาสินค้า

เงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศ แต่หากเทียบเงินเฟ้อไทยทั่วโลกแล้ว เงินเฟ้อประเทศในอาเซียนยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป โดยเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยุโรป 19 ประเทศ เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4% ส่วนสหรัฐฯ เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 8.6% อินเดีย เงินเฟ้อ 7.7% ขณะที่ ในภูมิภาคนี้ มาเลเซีย เงินเฟ้อ 2.3% สปป.ลาว เงินเฟ้อ 9.86% ฟิลิปปินส์ เงินเฟ้อ 4.9% จีน เงินเฟ้อ 2.1% ญี่ปุ่น เงินเฟ้อ 2.5% อินโดนีเซีย เงินเฟ้อ 3.47% และ ไทย เงินเฟ้อ 7.10% (เดือนพฤษภาคม)

สำหรับปัจจัยหลักที่กระทบเงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคมนี้ คือ ราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ 7.10% อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.28% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

กระทรวงพาณิชย์ประเมินเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนทั้งปี 2565 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อไตรมาส 2 มองว่าจะมากกว่า 4% ขณะที่ไตรมาส 3 หากทิศทางราคาน้ำมันยังสูงขึ้น ก็เชื่อว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ แต่ยังเชื่อว่าทั้งปีเงินเฟ้อจะไม่ถึง 6-7% แน่นอน

ซึ่งสวนทางกับกนง.ที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ

ขณะที่ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในอนาคต ที่จะทำให้ไทยต้องเดินตามรอยนโยบายทางการเงินของประเทศอื่น ๆ

ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยบ่งบอกชัดเจนมากขึ้นถึงปัญหาความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จนอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต และก่อให้เกิดการพิจารณาเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทย และยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีกเมื่อกนง.มีมติแบบไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

ดังนั้น ในการประชุมกนง.นัดหน้า วันที่ 10 สิงหาคม 2565 จึงสำคัญ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากว่ากนง.อาจมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

Back to top button