แค่ ‘ปรับฐาน’ ไม่ใช่ ‘หมี’
ตลาดหุ้นที่ปรับลงในช่วงนี้ เป็นเพียงแค่การ “ปรับฐาน” ยังไม่ใช่เป็นภาวะ “ตลาดหมี” เหมือนกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นที่ปรับลงในช่วงนี้
เป็นเพียงแค่การ “ปรับฐาน” ยังไม่ใช่เป็นภาวะ “ตลาดหมี” เหมือนกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ตามเกณฑ์หุ้นระหว่างการปรับฐานกับหมีนั้น
มีเงื่อนไข เช่น หากเป็นภาวะหมี ดัชนีจะลงมากกว่า 20% จากที่ขึ้นไประดับสูงสุด
และมีระยะเวลามากกว่า 2 เดือนขึ้นไป
ส่วนการปรับฐาน
ดัชนีจะลงมากกว่า 10% แต่ไม่เกิน 20% และไม่มีกรอบเวลาของการลง
ความแตกต่างของการปรับฐานและหมีอีกข้อ
นั่นคือ เมื่อเกิดการปรับฐาน ดัชนีจะดีดกลับเร็ว
ส่วนภาวะหมี แม้ตลาดจะปรับลงค่อนข้างเร็ว แต่การฟื้นตัวจะช้ามาก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะหมี” เพราะในช่วงกว่า 2 เดือนลงมามากกว่า 20% แล้ว
ส่วนของไทยนั้น ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปรับลงมาเพียง 7.5% เท่านั้น
อาจจะมีคำถามต่อว่า การปรับฐาน คือ จุดเริ่มต้นของตลาดหมี (หรือไม่)
คำตอบคือมีทั้งโอกาสที่จะเกิดขึ้น และไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
มีการรวบรวมสถิติจากปี 2517 ถึงช่วงของเหตุการณ์โควิด-19
พบว่ามีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่เมื่อตลาดปรับฐานแล้วลุกลามกลายเป็นตลาดหมี
และจากการสอบถามกับนักวิเคราะห์หลายคนล่าสุด
ยังไม่มีใครที่เห็นว่า การปรับฐานของหุ้นไทยตอนนี้จะนำไปสู่การเกิดตลาดหมี (ยังมองไม่เห็นปัจจัยลบอย่างรุนแรง) เพราะหากเกิดภาวะหมีขึ้นมาจริง ๆ ดัชนีจะต้องลงไปต่ำกว่า 1,375 จุด
ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งของไทยและต่างประเทศ ต่างประเมินดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับสำคัญต่ำสุด 1,530 จุด
ยังไม่มีใครมองว่าจะลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด
และส่วนใหญ่ยังคงเป้าดัชนีสิ้นปีนี้ไว้ระหว่าง 1,570-1,700 จุด
ส่วนตลาดหุ้นไทยขณะนี้ มีแนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,550 และ 1,530 จุด
ซึ่งเมื่อวานนี้ดัชนีหุ้นไทยต่อสู้อย่างหนักที่บริเวณ 1,550 จุด
แม้ระหว่างวันดัชนีจะลงมาต่ำสุด 1,549.98 จุด ในช่วงเปิดตลาดภาคเช้า
ทว่า เป็นการปรับลงมาเพียงช่วงเวลาเล็ก ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับ และดันดัชนีขึ้นมายืนเหนือแนวรับสำคัญนี้ได้ จนมาปิดตลาดที่ 1,559 จุด
แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิ (SET) เมื่อวานนี้อีก 2,494 ล้านบาท
ส่งผลให้ช่วง 7 วัน (ทำการ) ต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาแล้วกว่า 18,680 ล้านบาท
แต่เป็นการขายเพื่อการปรับพอร์ต จากทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่า และหลบความเสี่ยงจากภาวะอัตราเงินเฟ้อ
สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิตลอดทุกวันช่วง 7 วัน (ทำการ) ที่ผ่านมา รวมกว่า 20,403 ล้านบาท ทำให้พอช่วยประคองภาวะตลาดหุ้นไทยได้
ล่าสุด วานนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อหุ้นเข้าออกดัชนี SET50 และ SET100
SET50 หุ้นเข้าใหม่ JMT JMART และ BLA
ทั้ง 3 หุ้นนี้ ถือว่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนหุ้นที่ออกจาก SET50 คือ COM7, RATCH, STGT
ส่วน SET100 เข้าใหม่ FORTH, ONEE, PSL, TIPH
และที่หลุด BPP, RS, SIRI, TVO
ทำให้ในช่วงจากวันนี้ ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ น่าจะมีการเข้ามาเก็งกำไรกันพอสมควร