พาราสาวะถี
ประเด็นการยื่นให้ ชวน หลีกภัย ตรวจสอบญัตติซักฟอกของพรรคฝ่ายค้านเป็น “ญัตติเถื่อน” หรือไม่ ของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีพลังงาน ตามต่อด้วยการรับลูกของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ล้วนแต่เป็นเรื่องแทคติกทางการเมือง
ประเด็นการยื่นให้ ชวน หลีกภัย ตรวจสอบญัตติซักฟอกของพรรคฝ่ายค้านเป็น “ญัตติเถื่อน” หรือไม่ ของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีพลังงาน ตามต่อด้วยการรับลูกของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ล้วนแต่เป็นเรื่องแทคติกทางการเมือง หาแง่มุมเพื่อดึงจังหวะ เตะตัดขาให้ฝ่ายตรงข้ามออกอาการ อย่างที่บอกงานนี้เป็นการแก้เหลี่ยมของการเสียเชิง ปลายทางยังไงคนที่ร้องก็ต้องถูกอภิปรายอยู่ดี หากเป็นช่วงที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังมีมนต์ขลังก็ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนก็เป็นได้
แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป รูปมวยย่อมไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นประเภทลูกเล่นแพรวพราว ต่อยไปการ์ดตกท้าให้ชกหน้า ถูกหมัดบางจังหวะถึงกับต้องนับ แต่มีกรรมการเข้าข้างจึงต่อยไปยิ้มไป ฝ่ายตรงข้ามชกแทบตายยังไงก็ไม่ชนะ ทว่าเวลานี้จะทำเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้วหลังคะแนนนิยมดิ่งลงเหว กรรมการที่เคยถือหางไม่ใช่ว่าจะไม่ช่วย แต่ต้องให้เนียนกว่าที่ผ่านมา หรือบางอย่างจำเป็นต้องตัดใจโชว์ความเป็นกลาง มันจึงทำหัวหน้าค่ายมวยสั่งลูกน้องตั้งการ์ดรัดกุมมากขึ้น
ไม่เพียงแต่องคาพยพที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อมาค้ำยันเสถียรภาพของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะเท่านั้นที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มหาทางปกป้องตัวเอง และสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของประชาชน แม้แต่ ส.ว.ลากตั้งระยะหลังก็พบว่ามีท่าทีเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่กรณีที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ส่งซิกให้ ส.ว.เปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นท่าทีโดยภาพรวมของ ส.ว.ทั้งหมด
อันเป็นผลพวงมาจากทิศทางทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากก่อนการเลือกตั้งปี 2562 อย่างชัดเจน สิ่งที่เห็นรูปรอยของความไม่ปรองดอง เป็นเนื้อเดียวกันหรือคงความเป็นเอกภาพของ ส.ว.เหมือนเมื่อคราวยกมือเลือกผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี คือความขัดแย้ง ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงวิธีการในการแสดงออก จนถึงขนาดที่ประธานวุฒิสภามีการขับ ส.ว.อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ ออกจากห้องประชุม เมื่อคราวประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
จะว่าไปแล้วอาจมีคนเห็นแย้งว่าจะไม่มีความเป็นเอกภาพได้อย่างไรในเมื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คนมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทั้งหมด หรือเรียกได้ว่าคลอดมาจากปลายกระบอกปืนเหมือนกัน จริงอยู่ที่ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนั้น แต่หากพิจารณาโดยละเอียดก็จะพบว่า ส.ว.ลากตั้งนั้นมีที่มา 3 ส่วนด้วยกันคือ พวกที่มาจากกลุ่มร่างรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้ถือเป็น ส.ว.ส่วนน้อยแต่ก็ฝังรากลึก ยึดกุมอยู่กับอำนาจเผด็จการสืบทอดมาอย่างยาวนาน
อีกพวกก็คือ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ที่แยกเป็น กลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งกันมาจากจังหวัดต่าง ๆ และกลุ่มที่ คสช.เลือกเองตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มที่มาจากจังหวัดนั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า แม้จะถูกเลือกหรือวางตัวไว้โดย คสช. แต่ก็จะมีความสนิทชิดเชื้อกับนักการเมืองในพื้นที่ นั่นหมายความว่า คนกลุ่มนี้ย่อมหนีไม่พ้นพวกที่มีกลุ่ม มีสังกัด เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้งใหม่ และแนวโน้มก็เห็นชัดเจนว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้มีพลังเหมือนเดิม จึงทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหาที่ยึดใหม่เพื่ออนาคต
ยิ่งได้เห็นกระแสของการไม่เอาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลเรือเหล็กพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ผลจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจน ทำให้ ส.ว.จำนวนหนึ่งต้องแสดงท่าทีที่ทำให้สังคมเห็นว่าตนเองยึดหลักการ มีอุดมการณ์ และรับฟังความเห็นของสังคมเป็นด้านหลัก จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายใน และไปสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างหนัก เพราะมันจะส่งผลกระทบไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
จากเสียงที่เคยยกมือหนุนแบบไม่มีแตกแถว เมื่อถูกฝ่ายการเมืองดึงไปเป็นพวกนั่นก็หมายความว่า ถ้ากระแสหลังเลือกตั้งโอนเอนไปในทางใด พรรคการเมืองที่ดึง ส.ว.ไปเป็นพวกก็พร้อมที่จะเทคะแนนเสียงของตัวเองบวกกับ ส.ว.ที่มีอยู่ในมือไปเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ประชาชนลงฉันทามติไว้วางใจให้เป็นตัวแทนบริหารประเทศ โจทย์แบบนี้ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องคิดหนักจะจัดการกับอนาคตการอยู่ยาวของตัวเองอย่างไร
สำหรับการซักฟอกมีการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้สุชาติต้องออกมาโวยแหลกและกล่าวหาฝ่ายค้านอย่างรุนแรงนั้น คงเป็นเพราะไม่ปรากฏชื่อของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่ในลิสต์ด้วย ทั้งที่สถานการณ์ราคาน้ำมันและความเดือดร้อนของประชาชนขณะนี้ไม่ควรจะหลุดรอดไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นไม่เพียงแต่เจ้ากระทรวงจับกังที่หงุดหงิด คนจำนวนไม่น้อยก็ตั้งข้อกังขาและพุ่งเป้าไปที่พรรคก้าวไกลในฐานะมือทำงานด้านนี้ว่า มีลับลมคมในถูกเงินถุงเงินถังฟาดหัวหรือไม่
ฟังจากการอธิบายของ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พอจะเข้าใจได้ เรื่องพลังงานไม่พ้นถูกซักฟอกแน่ แต่พรรคมองสุพัฒนพงษ์เป็นเพียงรัฐมนตรีขาลอย ดังนั้น ข้อมูลที่มีจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พร้อมเปรยด้วยว่า หลักฐานที่มีไม่ได้โยงไปที่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนจะโยงไปที่ใครให้รอดูการอภิปราย น่าสนใจ อย่างที่รู้กันกระสุนทางการเมืองยุคหลังถูกยิงมาจากซีกของพลังงานเป็นด้านหลัก
ปริศนาที่ทิ้งปมไว้อย่างนี้ คนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเมืองภายในรัฐบาล ทั้งบรรดาสายตรงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ และเครือข่ายเด็กในคาถารวมไปถึงพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ย่อมถูกเพ่งเล็งอย่างเป็นพิเศษ อย่าลืมว่าญัตติซักฟอกครั้งนี้ของฝ่ายค้านเป็นการเปิดยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ดังนั้น หากไม่เป็นการโฆษณาเกินจริง ข้อมูลที่อ้างกันว่าหลั่งไหลเข้ามา และการสืบค้นด้วยทีมทำงานที่เป็นมือตรวจสอบ ก็น่าจะทำให้รัฐมนตรีบางรายเก้าอี้สะเทือนได้ อย่างไรก็ตาม บรรดาเซียนการเมืองทั้งหลายยังหวั่นใจว่าสุดท้ายจะข้อสอบรั่วที่ทำให้ไม้เด็ดในมือฝ่ายค้านกลายเป็นขนมหวานสำหรับคนที่ถูกอภิปรายไปเสียฉิบ