เอาไงต่อ…บจ.เหมืองขุดคริปโต

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง นักลงทุนทั่วโลกแห่เทขายอย่างหนัก


เส้นทางนักลงทุน

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง นักลงทุนทั่วโลกแห่เทขายอย่างหนัก โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีกระแสข่าวกองทุน Three Arrows Capital Ltd ที่เน้นลงทุนในคริปโตฯ โดยเฉพาะ กำลังเจอกับความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ซึ่งกองทุนฯ นี้ได้ทำการจ้างที่ปรึกษากฎหมายและการเงิน เพื่อแก้ปัญหาสำหรับนักลงทุนและเจ้าหนี้บริษัท

Three Arrows Capital คือกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเกือบ 10 ปี โดยเริ่มต้นจากเพื่อนสมัยเรียนอย่าง Su Zhu และ Kyle Davies มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารราว 3 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานก่อนที่จะเกิดการล่มสลายของ TerraUSD

ขณะนี้กองทุนกำลังมองหาทางเลือกในการขายสินทรัพย์และขอความช่วยเหลือจากบริษัทอื่น โดยกองทุนหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ที่ให้เวลาในการทำแผนสำหรับแก้ปัญหาครั้งนี้

หนึ่งในเหตุผลการขาดทุนอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับ Three Arrows Capital มาจากการเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าลงทุนกับ Luna Foundation Guard และมีส่วนช่วยในการพยายามตรึงมูลค่าของ TerraUSD ไว้ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 โทเคน

นอกจากนี้ Three Arrows Capital ได้เข้าลงทุนในลูน่า (LUNA) ราว 200 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่มูลค่าดังกล่าวแทบจะกลายเป็นศูนย์

ด้านความเคลื่อนไหวของเหรียญคริปโตฯ นั้น บิตคอยน์ (Bitcoin) เคยขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูง 68,000 ดอลลาร์ หรือ 2.2 ล้านบาท (9 พฤศจิกายน 2564) แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และลดวงเงินคิวอีลง บิตคอยน์ก็ร่วงลงอย่างหนักมากกว่าตลาดหุ้น จากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ราคาจึงร่วงลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ 17,708 ดอลลาร์

อีเธอเรียม (Ethereum) ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 4,878.26 ดอลลาร์ (10 พฤศจิกายน 2564) และทำจุดต่ำสุด 879 ดอลลาร์ ส่วนไบแนนซ์ คอยน์ (Binance Coin-BNB) ราคาต่ำสุด 183 ดอลลาร์ และเอ็กซ์อาร์พี (XRP) ราคาทำจุดต่ำสุด 0.2871 ดอลลาร์

ในช่วงที่ราคาเหรียญคริปโตฯ พุ่งขึ้นถ้วนหน้า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีการแตกไลน์เบนเข็มมาทำธุรกิจเหมืองขุดคริปโตฯ หรือบิตคอยน์ หวังเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจหลักกันหลายราย ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ตลาดคริปโตฯ เป็นขาลง จึงได้เห็นบจ.ในกลุ่มนี้บางรายประกาศหยุดทำเหมือง บางรายชะลอการลงทุน ราคาหุ้นบจ.กลุ่มเหมืองขุดคริปโตฯ จึงตกลง

หากเทียบจากราคาสูงสุดในรอบ 1 ปี กับราคาล่าสุด (ณ 20 มิถุนายน 2565) 10 บจ.ในกลุ่มนี้ทรุดกันถ้วนหน้า โดย บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) ตกจาก 594 บาท มา 104 บาท ร่วง -82.49% บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) จาก 24.60 บาท มา 5.35 บาท -78.25% บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJ) จาก 0.84 บาท มา 0.28 บาท -66.67% บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) จาก 0.74 บาท มา 0.27 บาท -63.51%

ส่วนบมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) จาก10.20 มา 5.05 บาท -50.49% บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) จาก 11.20 บาท มา 6.15 บาท -45.09% บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) จาก 9.80 บาท มา 5.50 บาท -43.88% บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค จาก 2.76 บาท มา 1.79 บาท -35.14% และ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) จาก 2.46 บาท มา 1.71 บาท -30.08%

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอรส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DBSV ระบุว่า ภาพรวมตลาดคริปโตฯ ราคาเหรียญลดลงรุนแรง แทบทุกเหรียญร่วงหมด ตั้งแต่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้ง Bitcoin, Ethereum, XRP, BNB และ BITKUB โดยเฉพาะเหรียญ LUNA ที่เผชิญวิกฤตจนแทบไม่เหลือมูลค่า ขณะที่ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง

มีความเป็นไปได้ว่ามูลค่าเหรียญคริปโตฯ จะกลับมาฟื้นตัวได้ หากสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย แต่ความเสี่ยงคือ จะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ดังนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับคริปโตฯ ต้องระมัดระวังที่จะเข้าไปลงทุน แม้ราคาหุ้นกลุ่มคริปโตฯ ส่วนใหญ่จะร่วงไปมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ควรเข้าไป “ช้อนซื้อ”

หากแยกพิจารณาเป็นรายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ นั้น 1) กลุ่มหุ้นขุดเหรียญคริปโตฯ สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ ถึงจะขุดได้แต่เหรียญที่ขุดมามีมูลค่าต่ำ บจ.ในกลุ่มนี้ เช่น JTS, ZIGA, UPA, AJA, ECF, CWT, SCI, NRF เป็นต้น

2) กลุ่มหุ้นรับเหรียญมาใช้ซื้อสินค้าได้ หรือรับบริการ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะหากได้รับมาจากการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ก็จะป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการขายออกมาทันที หุ้นในกลุ่มเหล่านี้ เช่น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.แสนสิริ (SIRI), บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI), บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW), บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR)

หรือมีการออกและใช้เหรียญภายในกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้ามารับบริการได้ หรือทำโปรโมชั่นทางการตลาด เช่น JFin Coin ของกลุ่มบมจ.เจ มาร์ท (JMART) หรือ Popcoin ของกลุ่มบมจ.อาร์เอส (RS)

3) กลุ่มหุ้นบริษัทที่รับเป็นที่ปรึกษาทำธุรกิจเกี่ยวกับเหรียญคริปโตฯ บจ.ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) รับเป็นที่ปรึกษาในการออกเหรียญ หรือให้บริการต่าง ๆ, บมจ.เอสซีบี เอ็กซ์ (SCB) สนใจเข้าไปถือหุ้นใน BITKUB หรือกระทั่งบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ให้บริษัทย่อยคือกัลฟ์ อินโนวา ถือหุ้น 51% ส่วน Binance Capital Management ถือหุ้น 49% เพื่อจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด

4) กลุ่มหุ้นบริษัทที่เข้าไปถือลงทุนโดยตรง ปัจจุบันบริษัทที่ลงทุนโดยตรงในเหรียญคริปโตฯ มีอยู่ 2 บริษัทหลัก ๆ คือ GULF และ BROOK

โดย GULF ให้บริษัทย่อยคือ Gulf International Investment Limited (GII) ซึ่งถือหุ้นอยู่ 100% ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล BNB มูลค่าราว 1,678.25 ล้านบาท หรือ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หากสมมติให้ในที่สุดแล้วมูลค่าเหรียญลดลงไป 50% หรือได้รับความเสียหายไป 839 ล้านบาท หากเทียบกับกำไรตลอดปีจะเป็นสัดส่วนราว 7% จากกำไรราว 1.2 พันล้านบาท

แต่ล่าสุดบริษัทได้มีการจำหน่ายหุ้นทั้งหมดให้แก่บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (GHT) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทฯ ในสัดส่วน 4.86% (ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ 1,681.67 ล้านบาท จึงคาดว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แล้ว)

ส่วนบมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ลงทุนในเงินคริปโตฯ เป็นสกุลหลัก ๆ 60% คือ Bitcoin, Ethereum, Binance, Stablecoin และอีก 40% เป็นสกุลอื่น ๆ ที่ 1,290 ล้านบาท หากสมมติให้ในที่สุดแล้วมูลค่าเหรียญลดลงไป 50% หรือได้รับความเสียหายไป 645 ล้านบาท หากเทียบกับกำไรตลอดปีที่ราว 200-300 ล้านบาท จะเป็นสัดส่วนที่มากเกิน 100%

ในภาวะที่ตลาดคริปโตฯ เป็นขาขึ้น บจ.ต่างแห่ไปลงทุนกันเป็นแถว เมื่อสถานการณ์พลิก ตลาดเปลี่ยนเป็นขาลง หุ้นเหมืองขุดคริปโตฯ ร่วงระนาว (แม้ราคาจะดีดกลับบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ) เพราะลงทุนไปแล้วไม่คุ้มค่า ราคาเหรียญลดลงต่ำกว่าจุดคุ้มทุน ค่าไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น ยิ่งขุดเหรียญต่อไปก็ยิ่งขาดทุน….จะเอายังไงกันต่อ

Back to top button