บจ.อ่วมรับดอกเบี้ยขาขึ้น
การที่ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทจะต้องนำเงินกำไรที่ทำได้มาชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อัตรากำไรของบริษัทนั้น ๆ จะลดลง
เส้นทางนักลงทุน
อาการเสียงแตกของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ด้วยมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ซึ่งกรรมการ 3 เสียงนี้เห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้แล้ว
อัตราดอกเบี้ยมีความเชื่อมโยงกับการลงทุนในหุ้น โดยส่วนใหญ่เมื่อ “อัตราดอกเบี้ยลง ตลาดหุ้นจะขึ้น” และเมื่อ “อัตราดอกเบี้ยขึ้น ตลาดหุ้นจะลง” เนื่องจากบริษัทส่วนมากถ้าจะลงทุนก็จะระดมทุนมาจากแหล่งเงินทุน 2 แหล่ง คือ 1.ระดมเงินจากผู้ถือหุ้น หรือ 2.กู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ เช่น ธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้
ทั้งนี้ หากบริษัทใดมีการกู้เงินมาลงทุน สิ่งที่บริษัทจะต้องจ่ายคืนให้ผู้ให้กู้ก็คือ “ดอกเบี้ย” ซึ่งแทบทุกบริษัทที่จดทะเบียน (บจ). ในตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ล้วนมีส่วนของหนี้สิน ดังนั้น “ดอกเบี้ย” จึงเป็นต้นทุนทางการเงินของแทบทุกบริษัท
ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนขยายกิจการมักมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทจะมีต้นทุนในส่วนของ “ดอกเบี้ยต่ำ” ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและส่งเงินต้นให้กับแหล่งเงินกู้จึงสามารถทำได้ไม่ยากนัก แต่ในทางกลับกันถ้า “ดอกเบี้ยสูง” ขึ้น จะส่งผลให้ภาระในส่วนของดอกเบี้ยที่บริษัทจะต้องชำระก็ต้องเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัตินั่นเอง
การที่ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทจะต้องนำเงินกำไรที่ทำได้มาชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อัตรากำไรของบริษัทนั้น ๆ จะลดลง และการที่บริษัทกำไรลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นโดยตรงด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อตลาดหุ้น คือ โดยปกติแล้วเงินจะไหลไปสู่ที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนักลงทุนก็จะมีการแบ่งส่วนของเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพื่อหาผลตอบแทนชดเชยผลตอบแทนของดอกเบี้ยที่ลดลง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น เงินบางส่วนก็จะมีการไหลกลับไปอยู่ในส่วนผลตอบแทนใกล้เคียงแต่ความเสี่ยงต่ำกว่าเช่นกัน
ตามหลักข้างต้น หากกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นยังต้องติดตาม
ประเทศไทยอยู่ในวงจรดอกเบี้ยขาลงมาตั้งแต่ปลายปี 2554 ระหว่างนั้นมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง คือเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขยับจาก 1.5% มาเป็น 1.75% ก่อนที่ดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาลงอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 และลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% จนถึงปัจจุบัน
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2544 มีรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น 5 ครั้ง แต่ละครั้งดัชนีตลาดหุ้นไทย มักจะย่อตัวลงก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของแต่ละรอบ โดยความเสี่ยงในการปรับตัวลงของดัชนีจะอยู่ที่ 5% นั่นแปลว่าหากการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในระหว่างนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะวิ่งลงไปสู่ระดับ 1,554 จุดได้
นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจกดดันให้นักลงทุนปรับลดการยอมรับตัวคูณของตลาดในระดับที่ต่ำลง ส่งผลให้เป้าหมายของดัชนีในปีนี้จะถูกปรับลงไปด้วย
อาการเสียงแตกของคณะกรรมการกนง. ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายย่อมส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นผลลบต่อทุก ๆ บริษัท เพราะก็มีบางธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งกลุ่มธนาคารและกลุ่มประกันถือเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ลำดับแรก ๆ
โดยกลุ่มธนาคารจะมีช่องว่างในการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ตามดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ต้นทุนหรือก็คือดอกเบี้ยเงินฝากนั้นไม่ได้ปรับขึ้นมากเท่าดอกเบี้ยปล่อยกู้ ส่วนต่างของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin จึงเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาทั้งหมดจะไหลลงไปเป็นกำไรของธนาคารทันที
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นทุก ๆ 0.25% จะมีอัพไซด์ (upside) ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารราว 3-4% ธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นโดยตรง
สำหรับกลุ่มบริษัทประกันนั้น ด้วยพื้นฐานของบริษัทประกันชีวิตจะมีรายได้จากการเก็บเบี้ยประกัน ภายหลังจากเก็บเบี้ยไป บริษัทจะมีทั้งส่วนที่สำรองไว้เพื่อรองรับการเคลมประกัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน ซึ่งประเภทการลงทุนที่นิยมที่สุดก็คือตราสารหนี้และพันธบัตร จึงได้ประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และการหาผลตอบแทนจากบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากตราสารออกใหม่ต่าง ๆ
อีกกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ไปด้วยก็คือ ธุรกิจที่มีการนำเข้าเป็นหลัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงขึ้น จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งผู้นำเข้าก็จะได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงิน ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสินค้าลดลง
ในมุมกลับกัน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-bank เพราะรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงทำให้ต้นทุนที่มาจากการกู้ยืมจากแหล่งอื่น เช่น หุ้นกู้ ปรับตัวสูงขึ้น กำไรบริษัทจึงจะลดลงตามไปด้วย
2.ธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง เช่น โรงไฟฟ้า เพราะธุรกิจประเภทนี้มักมีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในรูปแบบของเงินกู้โครงการที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าก็จะสูงขึ้น
3.ธุรกิจผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้ซื้ออาจจะชะลอการซื้อบ้าน เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนต่องวดปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทจดทะเบียบ (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ระดับ 1.61 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.51 เท่า เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ ณ สิ้นปี 2564 ที่โควิดยังคงแพร่ระบาดรุนแรงอยู่ D/E ของบจ.ในตลาดหุ้นอยู่ที่ 2.66 เท่า ส่วนบจ.ใน mai อยู่ที่ 0.96 เท่า
หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 ประมาณ 833 บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET+mai) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.99 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 10.25% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีหนี้สินรวม 29.17 ล้านล้านบาท โดยเป็นบจ.ใน SET จำนวน 651 บริษัท มีหนี้สินรวม 32.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 10.34% และบจ.ใน mai จำนวน 182 บริษัท มีหนี้สินรวม 1.43 แสนล้านบาท ลดลง 9.4 พันล้านบาท หรือลดลงกว่า 6.16%
ด้วยหนี้สินมากมายขนาดนี้ วัฏจักร “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ย่อมจะต้องส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของบจ.พุ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้