พาราสาวะถี
ยืนยันจากปากของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ไม่เถื่อน” ตามที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน ยื่นร้อง
ยืนยันจากปากของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ไม่เถื่อน” ตามที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน ยื่นร้อง นอกจากนั้น จอมหลักการยังย้ำหนักแน่นต่อประเด็นที่มีการไปยื่นร้องหน่วยงานอื่นในประเด็นเดียวกันว่า โดยเฉพาะ ป.ป.ช.นั้น เพราะคำวินิจฉัยว่าญัตตินั้นถูกต้องหรือไม่อยู่ที่สภา โดยอาจจะร้องที่อื่นได้แต่การตัดสินใจอยู่ที่สภา กรณีนี้ไม่มีปัญหาและผ่านไปแล้ว รวมทั้งได้มีการแจ้งไปยัง ครม.เรียบร้อย
ทั้งนี้ ตามกระบวนการในซีกของสภาฯ ทางประธานก็จะมีการเรียกประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการที่จะอภิปรายและวันที่จะเปิดอภิปราย เบื้องต้นคาดว่าจะหารือกันภายในสัปดาห์นี้ ฟาก ครม. วิษณุ เครืองาม ยืนยันว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมในวันอังคารนี้ (28มิถุนายน) เพื่อพิจารณาว่า คณะรัฐมนตรีจะพร้อมให้มีการอภิปรายกันวันไหน ส่วนจะอภิปรายกันกี่วันให้เป็นเรื่องของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านไปกำหนดกันเอง
คงเป็นอีกเรื่องที่จะมีการเล่นเกมการเมืองระหว่างกัน เพราะฝ่ายค้านลั่นวาจาไว้แล้วว่าขอเวลาในการซักฟอก 5 วัน ฝ่ายรัฐบาลบอกว่า 4 วันก็เพียงพอแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปดูกันในเนื้อหา ถ้าต้องการที่จะเอาชนะคะคานกัน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องยืนพื้นตามที่ตัวเองประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่จะมีการอภิปรายกันนั้น ฟังจากวิษณุแล้ว ประกอบกับจังหวะเวลาที่เหมาะสมคงหนีไม่พ้นวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะตามคุณแหล่งข่าวทั้งหลายเพื่อสืบค้นข้อมูลว่าจะมีทีเด็ดอะไรหรือไม่
หากยึดตามการอภิปรายที่ผ่านมา แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ย่อมมีการกระทืบเท้าขู่ แยกเขี้ยวใส่เป็นสไตล์ของฝ่ายตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายรัฐบาลรัฐมนตรีทั้ง 11 รายก็ต้องประกาศรายวันว่า มีความพร้อมที่จะชี้แจง และขอให้ฝ่ายค้านใช้ข้อมูลที่เป็นจริงมาซักฟอก สำหรับพรรคสืบทอดอำนาจก็จัดสองทีมเชลียร์และตีรวนฝ่ายค้านไว้ตั้งรับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทีมปราบมารและทีมจอมยุทธ์ เรื่องเสียงโหวตหลังซักฟอกถึงตอนนี้ไม่มีอะไรน่าหนักใจ
ในเมื่อกระสุนเตรียมกันไว้อย่างดี โดยที่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้หวังที่จะโค่นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจากการโหวตในสภาอยู่แล้ว หากแต่จะเป็นเวทีเพื่อใช้นวดให้น่วม หรือกระทืบให้ช้ำ ให้แต่ละคน แต่ละพรรคสะบักสะบอมก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าสามารถเปิดแผลแก้ต่างกันไม่ตก รวมไปถึงการขยายผลของความขัดแย้งภายในแก๊ง 3 ป.ให้ถ่างกว้างออกไปอีก เชื่อได้ว่าขบวนการสืบทอดอำนาจระส่ำระสายกันอย่างแน่นอน
ที่น่าจับตามองคงเป็นท่วงทำนองของสองพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย แม้จะถูกมัดรวมซักฟอกร่วมกัน แต่ต้องดูการอภิปรายของฝ่ายค้านในแง่ของเนื้อหา และน้ำหนักในการโจมตี หากเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย หมายความว่าเป็นการเปิดทางให้มีโอกาสได้แก้ตัวในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งหนนี้แรงกดดันไม่อยู่ที่พรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทยที่พุ่งเป้าแลนด์สไลด์ หรือก้าวไกลซึ่งมีกลุ่มกองเชียร์ชัดเจน หากแต่เป็นการตั้งคำถามจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
สิ่งที่ทั้งสองพรรคจะถูกถามก็คือ ยังคงสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาชัดเจนว่า มีพรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ แต่ประชาชนหรือคนที่สนับสนุนก็ทำอะไรไม่ได้ สันดานของนักการเมืองเมื่อได้เสียงไปนั่งในสภาหินอ่อนแล้วไม่เคยมองเห็นหัวประชาชน หนนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ทวงความชอบธรรมของตัวเองกลับมา บทลงโทษสะท้อนให้เห็นแล้วผ่านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม.และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ยิ่งผลสะเทือนจากปรากฏการณ์ชัชชาตินับวันยิ่งเด่นชัด การเปรียบเทียบเกิดขึ้นต่อเนื่อง เรียกได้ว่าทุกวินาทีที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขยับตัวทำอะไรก็ตามมันหมายถึงความถดถอย ความเสื่อมของฝ่ายกุมอำนาจ สิ่งที่เห็นได้ชัดว่านักการเมืองทั้งหลายกลัวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ เหตุไฟไหม้ย่านบ่อนไก่ ถามว่าตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้หรือ ความจริงก็คือเกิดขึ้นหลายหนแต่ไม่เคยมีใครลงไปในพื้นที่เพื่อดูแลความเดือดร้อนของประชาชน
พลันที่ชัชชาติไปปรากฏกายไม่ใช่แค่ตามหน้าที่ แต่ทั้งหลังเกิดเหตุ ระหว่างวันและวันต่อมา จนทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พรรคสืบทอดอำนาจต้องส่งตัวแทนลงไปดูแล ช่วยเหลือประชาชนกันจ้าละหวั่น นี่เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การเมืองที่มองเห็นประชาชนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา กับการเมืองที่ประชาชนคือผู้มีพระคุณ คือเจ้านาย คือผู้เดือดร้อนที่จะต้องเข้าถึงและเข้าใจหัวอกความทุกข์ยากนั้นต่างกันอย่างไร
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากต้นทุนชีวิตของประชาชนที่แบกรับกันหนักหน่วง โดยที่ไม่มีทีท่าว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้แสดงออกถึงสติปัญญาอันชาญฉลาดในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้แก้ไขให้ประชาชนได้บรรเทาความเดือดร้อนเหล่านั้นได้อย่างไร มีเพียงแต่คำคุยโม้โอ้อวดในสิ่งที่ตัวเองคิดและเชื่อว่าทำถูก ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งล้วนแต่ห่างไกลความเป็นจริงทั้งสิ้น มันจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อคนจนเพิ่มขึ้นทุกปี
ตรงนี้พวกเลียอุ้งตีนเผด็จการไม่ต้องมาแย้งว่ากล่าวหากันแบบไร้หลักฐาน ก็ตัวเลขคนถือบัตรคนจนที่สมอ้างกันว่าเป็นผลงานช่วยดูแลความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ประชาชนนั่นปะไร จากที่เคยมี 14 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20 ล้านคน เช่นนี้แล้วมันจะทำให้คนไทยหลุดพ้นกับดักรายได้น้อย รายได้ปานกลาง หรือสลัดหนีความยากขนได้อย่างไร มันจึงทำให้มองกันได้ว่า ทิศทางของการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ใช่เรื่องของการแบ่งข้างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ หากแต่จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเอากับไม่เอาประยุทธ์ สุดท้ายบทสรุปน่าเชื่อได้ว่าจะออกมาไม่น่าต่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.