ถึงยุค ‘คุยกับแฟนต้องดับไฟ’ อีกแล้ว
ในช่วงนี้หลายประเทศออกมาเตือนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน และมีบางประเทศได้สั่งดับไฟเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หรือถึงขนาดเตือนว่าอาจจะต้อง “ปันส่วน” พลังงานกันก็เป็นไปได้แล้ว แต่เหตุผลในการเตือนและเรียกร้องของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป
ในช่วงนี้หลายประเทศออกมาเตือนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน และมีบางประเทศได้สั่งดับไฟเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หรือถึงขนาดเตือนว่าอาจจะต้อง “ปันส่วน” พลังงานกันก็เป็นไปได้แล้ว แต่เหตุผลในการเตือนและเรียกร้องของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องประชาชนในกรุงโตเกียวและบริเวณรอบ ๆ ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลงโดยเตือนว่า ซัพพลายไฟฟ้าจะตึงเครียดเพราะกำลังประสบกับ “คลื่นความร้อน” เนื่องจากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อุณหภูมิในกรุงโตเกียวพุ่งสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ในขณะที่เมืองอิเซะซากิ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 40.2 องศาฯ ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เคยมีการบันทึกในเดือน มิถุนายน
สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นขอร้องให้ประชาชนทำก็คือ ปิดไฟที่ไม่จำเป็นเป็นเวลานาน 3 ชั่วโมงตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมง ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้ใช้เครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสมและทำร่างกายให้ชุ่มชื่นในยามที่ร้อนมาก ๆ
แม้ว่าบริษัทโรงไฟฟ้ากำลังเพิ่มกำลังการผลิต แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็กล่าวว่า สถานการณ์ไม่อาจคาดการณ์ได้เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นและหากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่ซัพพลายไฟฟ้าเกิดมีปัญหาอย่างกะทันหัน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ก็จะลดลงต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 3%
ความจริงแล้ว ปัญหาซัพพลายไฟฟ้าของญี่ปุ่นเริ่มตึงตัวมาตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเดือน มีนาคม ซึ่งบีบให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องระงับการผลิต นอกจากนี้ยังได้มีการปิดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกหลายโรงเพื่อพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในช่วงกลางเดือนนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลออสเตรเลียก็ได้เรียกร้องให้ครัวเรือนในรัฐนิว เซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีนครซิดนีย์เป็นเมืองหลวง ปิดไฟเป็นเวลาสองชั่วโมงช่วงหัวค่ำทุกวัน และยังได้ระงับตลาดค้าส่งไฟฟ้าเมื่อราคาไฟฟ้าสูงขึ้น
แม้ว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่สุดของโลก แต่ยังประสบวิกฤติไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากน้ำท่วมเมื่อต้นปีจนส่งผลกระทบต่อเหมืองถ่านหินในนิว เซาท์เวลส์ และควีนสแลนด์ ในขณะเดียวกันปัญหาทางเทคนิคก็ได้ลดการผลิตถ่านหินในเหมืองสองแห่งอีกด้วย
นอกจากนี้ความต้องการพลังงานในออสเตรเลียได้พุ่งขึ้นเมื่ออากาศได้หนาวเย็นอย่างกะทันหันและออสเตรเลียเริ่มเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากที่ได้ผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาไฟฟ้าในตลาดค้าส่งของออสเตรเลียสูงกว่าเพดาน 300 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดพลังงานออสเตรเลีย (Aemo) กำหนดไว้
ในยุโรป เมื่อปลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา เยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรป ก็เตือนให้ชาวเยอรมันลดการอุปโภคพลังงาน และส่งสัญญาณว่า ใกล้จะต้อง “ปันส่วน” ก๊าซกันแล้ว เนื่องจากรัสเซียลดการส่งก๊าซเพื่อตอบโต้ที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรเพราะการรุกรานยูเครน
เยอรมนีได้จัดทำแผนฉุกเฉินพลังงานไว้สามขั้นในกรณีที่มีการหยุดชะงักเพราะรัสเซียระงับการส่งก๊าซ หรือมีความต้องการพลังงานสูงมาก โดยในแผนฉุกเฉินขั้นที่หนึ่ง ผู้ประกอบการเครือข่ายก๊าซต้องรายงานต่อกระทรวงเศรษฐกิจอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน และผู้ประกอบการโครงข่ายไฟฟ้าต้องสร้างความมั่นใจว่าการผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพ
ในขณะนี้เยอรมนีกำลังดำเนินการตามแผนขั้นที่สอง ซึ่งรัฐบาลจะจัดเตรียมเงินกู้ 15,000 ล้านยูโรเพื่อพยายามสำรองก๊าซไว้รองรับในช่วงฤดูหนาว และจะเริ่มจัดการประมูลก๊าซแก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจใหญ่ ๆ ใช้ก๊าซให้น้อยลง
อย่างไรก็ดี หากซัพพลายก๊าซหรือพลังงานอื่น ๆ หยุดชะงักลงอย่างรุนแรงจนตลาดไม่สามารถจัดการได้ ก็จะนำแผนขั้นที่สามมาใช้ ซึ่งหมายถึงว่า รัฐจะต้องเข้าแทรกแซง และจะต้องมีการ “ปันส่วน” พลังงานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ชาติอื่น ๆ ในยุโรปก็ได้เตรียมรับมือกับการขาดแคลนพลังงานกันแล้วเช่นกัน โดยได้มองหาพลังงานทางเลือก และมีหลายประเทศซึ่งรวมถึงเยอรมนี ได้ออกตัวแล้วว่า จำเป็นต้องยืดเวลาในการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป ซึ่งจะทำให้เป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนต้องล่าช้าออกไปอีก
แนวโน้มที่จะเกิดการขาดแคลนพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแหล่งใด ถือเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล และน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างรุนแรงในสังคม โดยมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักแล้วในอดีต
สิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาเพราะการขาดแคลนพลังงานในรอบนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานแต่ฐานะการเงินง่อนแง่น จะต้องเตรียมรับกับ Worst case แต่เนิ่น ๆ และต้องเร่งรณรงค์ให้เกิดสำนึกและตื่นตัวต่อการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นให้ช้าที่สุด
เพลง “น้ำมันแพง” ที่มีท่อนฮิตว่า “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ” อาจจะกลับมาวนเวียนอยู่ในหัวคนยุคเก่าที่เคยเจอวิกฤติน้ำมันขาดแคลน กันอีกรอบ ในไม่ช้านี้