หุ้นต่ำบุ๊ก แต่กำไรสวยของทักกี้
SC ถือว่าเป็นหุ้นในกลุ่มตระกูลชินวัตร อย่างแท้จริงดังจะเห็นได้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทและผู้บริหาร แต่มักจะมีคนพูดถึงน้อยที่สุด
SC ถือว่าเป็นหุ้นในกลุ่มตระกูลชินวัตร อย่างแท้จริงดังจะเห็นได้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทและผู้บริหาร แต่มักจะมีคนพูดถึงน้อยที่สุด
ที่สำคัญ เป็นบริษัทที่มีกำไรสุทธิต่อเนื่องมายาวนานนับตั้งแต่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน โดยมีอัตรากำไรสุทธิไม่เคยต่ำกว่า 9% เลยด้วยซ้ำ
แล้วก็น่าประหลาดเสมอมาที่บริษัทแบบนี้มีราคาหุ้นต่ำเตี้ยแค่ไม่เคยเกินกว่า 4.00 บาทเลย (ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.25 บาท) แม้ว่าล่าสุดมูลค่าหุ้นทางบัญชีหรือบุ๊กแวลูจะขึ้นไปอยู่ที่เหนือ 4.80 บาท และมีกำไรสะสมมากกว่าหมื่นล้านบาทแล้วก็ตาม
ปีนี้ล่าสุด นางปรารถนา แพทย์สมาน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ออกมาบอกว่า บริษัทยังคงเป้ายอดขายปีนี้ที่ 20,000 ล้านบาท และรายได้ยอดขายในครึ่งปีหลังนี้จะดีกว่าครึ่งปีแรก มาจากการขายบ้านแนวราบยังไปได้ดีต่อเนื่องตลอด ในกลุ่มบ้านราคาระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง มีความสามารถในการกู้ที่ดีและกลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินสด มีสัดส่วนถึง 30% เรียกว่าผลของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ และความสามารถทำกำไร
อีกทั้งปีนี้ ยอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 8,557 ล้านบาท โดย จะรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังนี้ราว 5,387 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2565 พร้อมกันนี้
นอกจากนั้น ในครึ่งปีหลัง ยังมีแผนเปิดโครงการใหม่ 8 โครงการ รวมมูลค่า 1.14 หมื่นล้านบาท เป็นแนวราบ 7 โครงการ คอนโดมิเนียม 1 โครงการ โดยเปิดในไตรมาส 3 แล้ว 4 โครงการ รวมมูลค่า 5,640 ล้านบาท อีก 4 โครงการเปิดในไตรมาส 4 มูลค่ารวม 5,760 ล้านบาท
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 95% พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและการลงทุน 5% และเริ่มลงทุนโรงแรม โดยวางเป้าปี 2566 บริษัทจะมีรายได้รวมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
การเคลื่อนตัวของรายได้ใหม่จากค่าเช่ามากขึ้น เป็นทิศทางที่จะช่วยลดการทำรายได้จากยอดขาย มาเป็นรายได้ในรูปค่าเช่าที่สม่ำเสมอแทนที่ ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจสร้างรายได้ประจำมากขึ้น หวังสัดส่วนกำไรจะมาจากธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำมากกว่า 1 ใน 3
วิธีการเพิ่มรายได้จากค่าเช่านี้ ทำให้ในอนาคตของบริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง แต่อัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นเพราะว่ามีการเสริมเพิ่มรายได้จากการขายเข้ากองทุน REITs มากขึ้นและรับรู้รายได้จากการถือสัดส่วนในกองทุนดังกล่าวแทน ในขณะที่ราคาที่ดินจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน SC ยังคงงบซื้อที่ดินปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาแนวราบเปิดขายในปี 65-66 โดยซื้อไปแล้ว 50% ที่เหลือคาดว่าจะใช้หมดในปีนี้
สำหรับโครงการร่วมลงทุน ยังเน้นพัฒนาคอนโดมิเนียมเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้มี 1 โครงการร่วมทุน ซึ่งในปี 2565 ยังมองหาโอกาสร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นปีหน้าวางแผนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 3 โครงการ อาจพิจารณาเปิดการเจรจาในรูปแบบดังกล่าวได้ แต่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและการเปิดประเทศว่าจะมีต่างชาติกลับเข้ามาแค่ไหน หากต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้น ดีมานด์ความต้องการคอนโดมิเนียมมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สังเกตได้จากการที่ยอดจองซื้อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย อาจพุ่งขึ้นกว่า 23% ในช่วงสิ้นปี 2560 ขึ้นแตะ “จุดสูงสุด” เป็นประวัติการณ์มาแล้ว
ที่ผ่านมา แม้ว่า SC อาจจะเงียบเชียบ แต่ ความสามารถทำกำไรไม่เคยตกต่ำเลย โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลังนี้ ไม่เคยกำไรต่ำกว่า 2.0 พันล้านบาทเลย แต่ราคาหุ้นก็ไม่เคยวิ่งเกินกว่าราคาตามบุ๊ก ทั้งที่มีการบริหารหนี้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานของกลุ่มมาโดยตลอด
ยามนี้ ระดับพี/อีที่ต่ำแค่ 6 เท่าเศษถือว่าราคาหุ้นต่ำเกินจริงไปมากพอสมควรทำให้ SC กลายเป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์ไม่กล้าแนะนำให้ขายหรือถือ แต่มีคำชี้แนะให้ซื้อแทน โดยไม่ต้องห่วงว่ากลุ่มของ “ทักกี้” จะอยู่ตรงไหนของการเมืองไทยในระยะต่อไป
เพียงแต่การจะเข้าลงทุนโดยมีเสื้อสีทางการเมืองอยู่ด้วย ไม่เคยเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดนัก…ยังคงเป็นข้อเตือนใจได้เสมอ
ดังที่เติ้ง เสี่ยวผิงเคยบอกว่า แมวจะสีอะไร ก็ขอให้จับหนูได้ จนทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ร่ำรวยสุด ๆ ยามนี้มาแล้วไม่ได้เป็นชาติยากจนเหมือนในอดีต