พาราสาวะถี

มันผิดจากคาดเสียที่ไหน บอกไปแล้วว่าผลการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับของที่ประชุมรัฐสภา ยังไงเสียก็ต้องโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยการหาร 500 ไม่ใช่ 100


มันผิดจากคาดเสียที่ไหน บอกไปแล้วว่าผลการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับของที่ประชุมรัฐสภา ยังไงเสียก็ต้องโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยการหาร 500 ไม่ใช่ 100 ในเมื่อขบวนการสืบทอดอำนาจอุตส่าห์วางแผนกันมานานหลายปี จนตกผลึกทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ต่อมาได้ถึงทุกวันนี้ จะมีใครโง่ไปแก้ข้อกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงข้ามตัวเองโกยคะแนนเสียงพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ท่าทีของพรรคสืบทอดอำนาจ พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ที่ทำยึกยักกันนั้น ก็แค่ละครการเมืองตบตาเท่านั้น

หลักฐานมันมัดแน่นถึงความต้องการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถามถึงแนวทางการโหวตเฉพาะเจาะจงเรื่องของการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สิ่งที่ทำให้ไม่ต้องคิดอะไรกันมากคือประกาศิตที่ว่า “ส่วนตัวเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกเป็นสูตรไหน เราก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอยู่ดี ก็ขอให้คุยกันมาแล้วกัน” เมื่อพูดถึงปลายทางมันก็รู้อยู่แล้วว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร

ตรงตามที่บอกไว้เป๊ะ เหตุผลที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายปอดแหก อย่างที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร ฟันธงไว้ถ้าใช้สูตรหาร 100 เพื่อไทยแลนด์สไลด์แน่นอน แล้วจะทำให้คนที่อยู่ในอำนาจเวลานี้ไม่มีที่ยืน ต่อให้มี 250 เสียง ส.ว.ลากตั้งก็จะดันทุรังโหวตหนุนให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ยาวได้ลำบาก ดังนั้น งัดสูตรหาร 500 มาปิดเกมเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ส่วนเรื่องที่ฝ่ายค้านจะยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็รู้กันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร

ชัดเจนว่าหากเปลี่ยนเป็นระบบบัตรสองใบและนับคะแนนแบบคู่ขนานแล้ว อาจเกรงว่าพรรคที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงคือ พรรคการเมืองที่อยู่ซีกตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยิ่งมีปรากฏการณ์ชัชชาติ ตามมาด้วยผลโพลชูอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ หากปล่อยให้ใช้สูตรหาร 100 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตจำนวนมากแล้ว เมื่อผนวกกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้จากบัตรใบที่สองด้วยวิธีการนับคะแนนแบบคู่ขนาน ย่อมชนะกันขาด ยากที่จะใช้วิธีตีมึน แล้วไปไล่แจกกล้วยรวมคะแนนเสียงเพื่อเป็นรัฐบาลเหมือนเมื่อคราวเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เมื่อผลโหวตของที่ประชุมรัฐสภาออกมาให้ใช้สูตรหาร 500 แล้วมีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมชัยเคยเขียนบทความอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นแนวทางทำให้เรามองเห็นการตีความขององค์กรอิสระแห่งนี้ว่าไม่น่าจะหนีไปจากนี้ นั่นก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่สะเด็ดน้ำ เหตุของการที่รัฐสภามีมติในวาระที่ 3 ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งโดยใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้มีการแก้ไขเพียง 3 มาตรา

คือมาตรา 83 เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน มาตรา 86 การคำนวณจำนวน ส.ส.ที่มีในแต่ละจังหวัด เมื่อจำนวน ส.ส.เขตเพิ่มเป็น 400 คน และมาตรา 91 เกี่ยวกับการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยยังค้างมาตราที่ไม่มีการแก้ไขอีก 3 มาตราคือ มาตรา 90 การกำหนดให้รับสมัครเขตจึงจะส่งบัญชีรายชื่อได้ มาตรา 93 การคำนวณ ส.ส.พึงมี กรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ และมาตรา 94 การคำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่ในกรณีมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ด้วยเหตุทุจริตการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญของมาตรา 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่เป็นหัวใจของการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เขียนไว้เพียงข้อความสั้น ๆ การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น

โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้งและการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ไม่มีการเขียนเป็นลำดับขั้นตอน (1) (2) (3) (4) (5) เหมือนที่เคยมีในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหากรับร่างของพรรคพลังประชารัฐ หรือรับร่างของพรรคเพื่อไทย ที่ทั้งสองร่างถูกตีตกในวาระที่หนึ่งเข้ามาด้วย ทั้งสามมาตราที่เหลือจะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกัน และประกอบด้วยการแสดงรายละเอียดการคำนวณในแต่ละวงเล็บของมาตรา 91 ไว้อย่างชัดเจน หากแต่เป็นเรื่องความผิดพลาด หรือเป็นความตั้งใจที่รัฐสภาจะเลือกรับร่างที่ไม่สมบูรณ์ให้เกิดปัญหาการตีความ และสามารถเขียนขั้นตอนการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแตกได้เป็นสองแนวทาง

ดังนั้น สูตรหาร 500 จึงเป็นการกลับไปใช้วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบจัดสรรปันส่วน ตามเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ “คะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนมีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง” หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำสูญหายไป โดยคะแนนของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งยังถูกนำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี ก่อนจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้สัดส่วนตามคะแนนนิยมของพรรคที่ประชาชนทั้งประเทศเลือก

อีกทั้งมาตรา 93 และมาตรา 94 ที่ยังไม่มีการแก้ไข ยังคงค้างกรณีการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับไว้ ซึ่งหากแก้เป็นนับแบบคู่ขนานก็จะเกิดปัญหาว่า หากเกิดกรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ หรือกรณีเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปี ต้องคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีใหม่ แล้วตัดรายละเอียดดังกล่าวหรือไม่มีการกล่าวถึงในกฎหมายลูก ก็จะเกิดกรณีไปต่อไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้ทำ แต่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.บอกไม่ต้องทำ กลายเป็นว่ากฎหมายลูกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ นี่คือแผนเหนือเมฆที่บอกไว้แต่ต้นแล้วว่า ใครจะบ้าและโง่ไปแก้สิ่งที่ตัวเองได้เปรียบอยู่แล้วเพื่อให้กลายเป็นผู้แพ้

Back to top button