ADVANC เล่น ‘เกมใหญ่’ ซื้อ 3BB วัดใจกสทช.
การประกาศดีลของ ADVANC ครั้งนี้ เป็น “ทอกล์ ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่ไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ แต่จะต้องติดตามสเต็ปถัดไป
เส้นทางนักลงทุน
ข่าวลือในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นข่าวจริง เช่นเดียวกับกรณีที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ADVANC แต่ผู้คนทั่วไปมักนิยมเรียกขานว่า AIS ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้น 99.87% ของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบรนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB หรือที่รู้จักกันในนาม 3BB ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS นั่นเอง
การเข้าลงทุนของ ADVANC ครั้งนี้ รวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTTBB อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ADVANC ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS จำนวน 1,520 ล้านหน่วย หรือ 19% ในราคาหน่วยละ 8.50 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท
หากรวมมูลค่าของธุรกรรมการซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวแล้ว ดีลนี้จะมีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท คาดว่ากระบวนการซื้อขายจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ยังต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมถึงต้องขออนุมัติจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของทั้ง JAS และ JASIF ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2565 ก่อน
ดีลนี้สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 ด้าน ระหว่าง ADVANC กับ JAS และ JASIF คือ
ในด้านของ ADVANC นั้น เป็นที่จับตามองว่าดีลนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไรให้กับตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ของไทย เนื่องจากการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ ADVANC หรือ AIS ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2565 มีลูกค้าเน็ตบ้านอยู่ที่ 1.86 ล้านราย จะมีลูกค้าจาก 3BB เข้ามาในระบบสร้างรายได้อีก 2.42 ล้านราย หรือรวมกัน 4.28 ล้านราย แม้จะเป็นได้แค่เบอร์ 2 ของตลาด รองจากเบอร์ 1 คือ TrueOnline ที่มีลูกค้า 4.7 ล้านราย แต่ก็เป็นการไล่จี้มาติด ๆ
AIS เริ่มต้นทำตลาดเน็ตบ้านในปี 2559 เวลาผ่านมาแค่ 6 ปี ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ มีรายได้จากธุรกิจนี้ 2,437 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อได้ลูกค้ามามากขึ้น ย่อมทำเงินจากธุรกิจเน็ตบ้านได้มากขึ้นด้วย ส่วนจะมากแค่ไหน ประเมินได้คร่าว ๆ จากโครงสร้างรายได้ของ JAS ที่มาจาก 3 ส่วน คือรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ตทีวี 4,614 ล้านบาท, ส่วนจัดหา ออกแบบ และวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม 349 ล้านบาท และรายได้ส่วนงานอื่น และรายได้อื่น ๆ 157 ล้านบาท ดังนั้นแม้ดีลนี้จะดัน AIS ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ไม่ได้ แต่ก็น่าจะเขย่าตลาดเน็ตบ้านได้ไม่น้อยทีเดียว
AIS ตัดสินใจใช้เงินกว่า 3.24 หมื่นล้านบาท ซื้อธุรกิจครั้งนี้ เพราะ 3BB มีจุดเด่นด้านการลงทุนและฐานลูกค้าในต่างจังหวัดที่เข้มแข็งอยู่แล้ว มีสายไฟเบอร์ในต่างจังหวัดเป็นระยะทางราว 1.8 ล้านกิโลเมตร ขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ของ AIS จะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก การซื้อธุรกิจครั้งนี้ ทำให้ AIS ไม่ต้องลงทุนในจุดนี้เพิ่มมากนัก จึงเป็นการลดต้นทุนลงวิธีหนึ่ง
โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ประเมินว่าดีลนี้ไม่แพง และเป็นผลบวกต่อ AIS โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า หากพิจารณาจากมูลค่ากว่า 3.24 หมื่นล้านบาท เมื่อตีเป็นราคาต่อหุ้นของ JAS จะอยู่ที่ราว 3.80 บาท ขณะที่ราคาตลาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม (ก่อนประกาศดีล) ของ JAS อยู่ที่ 3.60 บาท ส่วนราคาเหมาะสมของ JAS ที่ บล.กสิกรไทย ประเมินไว้ อยู่ที่ 3.40 บาท แต่สามารถทำให้ AIS ขึ้นเป็นเบอร์สองของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน มีรายได้ กำไรเพิ่มขึ้น และอาจช่วยให้สงครามราคาจบลงด้วย
ด้านบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าดีลนี้ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันและปิดจุดอ่อนของ AIS ในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต AIS จะขายสินทรัพย์เข้ากอง JASIF หรือใช้กองทุนในการ Funding โครงการลงทุนต่าง ๆ
สำหรับฟากฝั่ง JAS นั้น มีความชัดเจนแล้วว่าทิศทางใหม่ที่จะเป็นก้าวต่อไปหลังดีลนี้จบจะกำเงินสดไว้ลงทุนในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Cloud, AI, Robotics, IOT, MedTech
JAS ยังคงถือหุ้นอีก 50.92% ในบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ซึ่งลงทุนด้าน Blockchain Business เช่น bitcoin mining, Web3.0, NFT และ Metaverse ปัจจุบันการขุดเหมือง bitcoin ของบริษัทนี้ มุ่งเป้าหมายไปที่การใช้พลังงานสะอาด 100% เป็นไปตามแนวการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) และยังได้รับประโยชน์จากการสั่งซื้อเครื่อง server ชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ในราคาต้นทุนที่ถูกลง โดยเหรียญ bitcoin ที่ขุดมาได้นั้น จะขายเมื่อมีกำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ลงทุนเท่านั้น
JAS แจกแจงว่าเงินสดที่ได้รับครั้งนี้ จะจัดสรรออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ใช้สำรองเพื่อเป็นการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่การซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ (Escrow), เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมและภาษี
2.ชำระหนี้สินบางส่วนที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทและบริษัทย่อยอื่น ๆ 3.เงินทุนหมุนเวียนหรือการลงทุนที่เหมาะสมราว 2,000 ล้านบาท
โดยเงินส่วนที่เหลืออีก 19,320 ล้านบาท หากจะนำไปใช้เพื่อการลงทุนใด ๆ ก็จะปฏิบัติตามประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ต่อไป
มีการตั้งข้อสังเกตว่าเม็ดเงินส่วนหนึ่งน่าจะนำไปจ่ายปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ JAS คือ “พิชญ์ โพธารามิก” ถือจำนวนกว่า 4.62 พันล้านหุ้น สัดส่วน 53.77% ซึ่งมีกระแสว่าอาจจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนหนี้ที่ค้างอยู่กับธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นเงินกู้ที่นำมาใช้ในการซื้อหุ้น JAS จากผู้ถือหุ้น โดยมีการตั้งโต๊ะรับซื้อหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ทั้งหมด เมื่อ 5-6 ปีก่อน ด้วยวงเงิน 4.25 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินไปราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อการนี้
ส่วน JASIF ถูกมองว่าอาจจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะถูกซื้อด้วยราคาเพียง 8.50 บาท ต่ำกว่าราคาในตลาดที่ 9.50 บาท และถึงแม้ว่า 3BB จะต่อสัญญาเช่าโครงข่ายของ JASIF ไปอีก 6 ปี ยืดจากปี 2574 ไปถึงปี 2580 แต่หลังจากนั้นมีโอกาสที่ 3BB อาจจะไม่ต่อสัญญากับ JASIF อีกแล้ว
ปัจจุบัน JASIF จ่ายเงินปันผล 0.95 บาท ซึ่งจะอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2568 ก่อนจะลดลงมาเหลือ 0.70 บาท ไปจนถึงปี 2580 แต่หลังจากนั้นอาจจะไม่มีผู้เช่าอีกแล้ว เพราะ ADVANC น่าจะดึง 3BB กลับไปใช้โครงข่ายของบริษัทเอง
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลกระเส็นกระสายมาจากผู้จัดการกองทุน JASIF ว่า เงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยกังวลกันนั้น ไม่น่าจะลดลง เพราะ ADVANC น่าจะขายสินทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้ขยายไซส์ของกองทุนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต
การประกาศดีลของ ADVANC ครั้งนี้ เป็น “ทอกล์ ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่ไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ แต่จะต้องติดตามสเต็ปถัดไป เนื่องจาก ADVANC ได้เปิดฉาก “เล่นเกม” ครั้งใหญ่ ในการวัดใจว่า “กสทช.” จะตัดสินใจอย่างไร เพราะมีความคาบเกี่ยวกับกรณีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่คืบหน้าไปมากแล้วก่อนหน้านี้ โดยทั้งสองกรณีเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้จำนวนผู้เล่นในตลาดลดลงไม่แตกต่างกัน
ดังนั้น หาก ADVANC ทำไม่ได้ TRUE-DTAC ก็ต้องทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน!!!!!