Risk off ตลาดหุ้นไทย
Risk off จะเกิดขึ้นเมื่อ “ความเสี่ยงสูง” หรือภาวะตลาดไม่มั่นคง มีความผันผวนสูง นักลงทุนจะนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ความเสี่ยงน้อย ๆ
ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 107.85 เพิ่มขึ้น 7.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำลายสถิติจากเดือน พ.ค.ที่ระดับ 7.10% ขึ้นมาเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) รอบ 14 ปี (นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงระดับ 9.20%) ส่งผลตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 5.61% เช่นเดียวกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก เงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดรอบหลายปี
กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก ต้องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นการปรับขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว..เห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐ ที่ส่งสัญญาณชัดว่า “ต้องขึ้นดอกเบี้ย” เพื่อต่อกรกับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับขึ้นไม่หยุด..!!
จากตัวเลข “คณิตศาสตร์เศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย กังวลว่าจะมีการขายหุ้น และปรับพอร์ตเน้นเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสดมากขึ้น เห็นได้ชัดจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากสถิติไตรมาส 1/65 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 89,343 ล้านบาท แต่ช่วงไตรมาส 2/65 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 70,765 ล้านบาท หรือมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงกว่า 18,500 ล้านบาท
ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าตลาดหุ้นไทยกำลังจะเข้าสู่โหมด Risk Off ครั้งใหญ่..!??
สำหรับ Risk on & Risk off เป็นการอธิบายถึงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นช่วงเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน นั่นทำให้ทิศทางของราคาหุ้นและมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้น มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
โดย Risk on จะเกิดขึ้นเมื่อ “ความเสี่ยงต่ำ” หรือภาวะตลาดช่วงนั้นค่อนข้างมั่นคง นักลงทุนจะรับความเสี่ยงได้มาก มักจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง กล้ารับความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น ทั้งตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดโลหะ หรือตลาดอนุพันธ์..
ส่วน Risk off จะเกิดขึ้นเมื่อ “ความเสี่ยงสูง” หรือภาวะตลาดไม่มั่นคง มีความผันผวนสูง นักลงทุนจะนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ความเสี่ยงน้อย ๆ เช่น ถือเงินสด การย้ายเงินลงทุน เน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหุ้น โดยลดน้ำหนักของตราสารทุนต่าง ๆ
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนเล่นกับความหวังการฟื้นตัวเลขเศรษฐกิจ จากนโยบายการเปิดประเทศ เป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนกล้าเสี่ยง (Risk on) มากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงต่ำ เพื่อกอบโกยผลตอบแทนให้มากที่สุด สังเกตได้ชัดเจนจากตลาดหุ้น ตลาดโลหะ หรือตลาดอนุพันธ์
ตรงกันข้ามเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดภาวะ Risk off หรือเกิดความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ นักลงทุนจะไม่กล้าลงทุน และพยายามนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัย การถือเงินสด การย้ายเงินลงทุนไปสู่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหุ้น.!
จากทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สกัดกั้นเงินเฟ้อ ผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้าเช่นนี้หุ้นไทยคงต้องเผชิญกับ Risk off กันต่อไป..!!